ในประเทศ

วงเสวนา “แกะรอยความรุนแรงในครอบครัวยุคโควิด” พบครอบครัวเปราะบางเกิดเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ20

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ มีการจัดเสวนาออนไลน์  “แกะรอยโควิด-19 กับความรุนแรงในครอบครัว” จัดโดยมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว  มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายอัมพวาโมเดล สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายในงานมีละครสะท้อนปัญหาความรุนแรงฯ โดยทีมเฉพาะกิจเธียเตอร์

นายจะเด็จ  เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  กล่าวว่า ผลสำรวจสุขภาพผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก ปี 2563 พบว่า ความรุนแรงในครอบครัวเกิดจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ 1.คนในครอบครัวต้องอาศัยอยู่กับผู้กระทำความรุนแรงมากขึ้น 2. เกิดความเครียดสะสมจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ 3.การเว้นระยะห่างทางสังคมจาก ญาติ พี่น้อง เพื่อน คนรู้จัก ทำให้การช่วยเหลือกันยาก ผู้หญิงจึงถูกใช้ความรุนแรงมากขึ้น และ 4.ผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย เมื่อปี 2563 มีประชาชนขอความช่วยเหลือเรื่องความรุนแรงกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เพิ่มขึ้น 20% มีทั้งปรึกษาด้านกฎหมายเพื่อไปแจ้งความเอง หรือขอให้มูลนิธิฯ ช่วยพาไปแจ้งความ  ขณะเดียวกันการที่ผู้เสียหายเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือเพราะตอนนี้รัฐมุ่งเน้นแต่เรื่องแก้ปัญหาโควิดทำให้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

“จากข้อมูลนี้สะท้อนว่าการระบาดของโควิด-19  พบความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจ คนขาดรายได้ ไม่มีงานทำ และเกิดความเครียดสะสม รวมถึงการล็อคดาวน์ ปิดสถานที่ ที่ผู้ชายใช้พบปะเพื่อนฝูง ทำให้ต้องอยู่ในครอบครัวมากขึ้น ผู้ชายส่วนหนึ่งยังปรับตัวไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะความตึงเครียดในครอบครัวมากขึ้น และเริ่มใช้ความรุนแรงทั้งวาจา และการใช้กำลังทำร้ายร่างกาย ด้วยความรู้สึกว่ามีอำนาจเหนือกว่าภรรยา ลูก ดังนั้นต้องบังคับใช้กฎหมายการกระทำความรุนแรงในครอบครัวอย่างเคร่งครัด ไม่มองเป็นเรื่องส่วนตัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องทำงานเชิงรุก โดยให้อาสาสมัครในชุมชนเฝ้าระวังในครอบครัวที่เกิดปัญหาความรุนแรงและหาทางช่วยเหลือได้ทันท่วงที การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับช่องทางการขอความช่วยเหลือเช่น สายด่วน 1300” นายจะเด็จ กล่าว

รศ.นพ.อดิศักดิ์  ผลิตผลการพิมพ์  ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กฯ มีโครงการเฝ้าระวังเด็กปฐมวัยที่อยู่ในครอบครัวยากจน และมีความไม่มั่นคงในครอบครัว อาทิ ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่หย่าร้าง ใช้ความรุนแรง มีการใช้สารเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่ออาชญากรรม และครอบครัวที่มีสุขภาพจิตไม่สมบูรณ์ ซึ่งในสถานการณ์โควิด ทำให้ครอบครัวที่ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น หย่าร้าง ก่ออาชญากรรมเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 20-30  ทั้งนี้เมื่อดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลี้ยงดูพบความไม่เหมาะสมทั้งทางกายภาพ และอารมณ์  ส่วนการคุกคามทำร้ายร่างกาย พบว่ามีปัญหาเพิ่มขึ้นชัดเจน

“ครอบครัวเหล่านี้มีความเปราะบางอยู่แล้ว หากเราให้การช่วยเหลือ เป็นการตัดปัญหาใหม่ไม่ให้เข้าไปซ้ำเติมก็จะพอช่วยสกัดปัญหาใหม่ได้ ซึ่งขณะนี้เราได้เริ่มพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำรวจความเสี่ยง ความยากจน และความไม่มั่นคงของครอบครัว เพื่อจะได้รับการช่วยเหลือเป็นอันดับแรกๆ เมื่อเกิดวิกฤต โดยนำร่องใน 4 จังหวัด จังหวัดละ 1 ตำบล คือ กทม. สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ขณะนี้กำลังจะขยายไปทำทั้งจังหวัดที่นครสวรรค์ แต่ตอนนี้โควิดระบาด ทำให้เราไม่สามารถลงพื้นที่วงกว้างได้” รศ.นพ.อดิศักดิ์  กล่าว

พ.ต.อ.เผด็จ ภู่บุบผากาญจน ผกก.สภ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม  กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้คนตกงาน และครอบครัวใช้เวลาอยู่ด้วยกันนานขึ้น ส่งผลต่อความเครียด ความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นด้วย ซึ่งตนมองว่าการที่ตำรวจทำงานตั้งรับเมื่อเกิดเหตุอย่างเดียวนั้นเอาไม่อยู่  แต่ถ้าทำงานเชิงรุก เท่ากับเป็นผู้คุมเกม เบื้องต้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจลงไประงับเหตุความรุนแรงในครอบครัว ก็ให้ทำให้มีข้อมูลเพื่อติดตามความเสี่ยงในอนาคตด้วย  ปัจจุบันเราพัฒนาเป็นเครือข่ายอัมพวาโมเดล  โดยการทำงานเป็นทีมร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พม. บ้านพักเด็ก ฝ่ายปกครอง รพ.สต. ผู้นำชุมชน ครู และเจ้าอาวาสวัดบางกระพ้อม และมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว  ไม่มีคำสั่งแต่งตั้งอะไรที่เป็นทางการ  วางรูปแบบการทำงานเชิงรุกโดยลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรง เริ่มจากเด็กพิเศษ เด็กทั่วไป เด็กที่มีแนวโน้มก่ออาชญากรรม และเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ไม่ค่อยสมานฉันท์ ตามลำดับ มีช่องทางในการสื่อสารตรงมาที่ตำรวจให้เข้าช่วยเหลือโดยเร็ว

“จากการทำงานเชิงรุก ทำให้พบว่าในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงนั้นจะมีปัญหาหลายด้าน ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา เช่น นักจิตวิทยา จิตแพทย์ นักพัฒนาชุมชน หรือด้านต่างๆ ซึ่งพบแก้ปัญหาได้ดีกว่าการทำงานแบบต่างคนต่างทำ ดังนั้นขณะนี้จึงเริ่มขยับเข้ามาทำเรื่องการป้องกันในระดับชุมชน สร้างวัฒนธรรม “เผือก” หรือการไม่นิ่งเฉยเมื่อเกิดความรุนแรง การลุกขึ้นมาเอาธุระกับปัญหาสังคม  ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไประงับเหตุ” พ.ต.อ.เผด็จ กล่าว

ขณะที่ นางนันทิยา พุ่มสุวรรณ ผู้ผ่านพ้นจากความรุนแรงในครอบครัว  กล่าวว่า ตนอยู่กินกับสามีเก่ามาซึ่งติดยาเสพติด และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มานาน เกิดอาการหลอน จึงทำร้ายร่างกายอยู่เสมอ จนปี 2558 ตนกำลังตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน ก็ถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง ต้องเข้ารพ. จึงได้แจ้งความ แต่ยังมองว่านี่คือครอบครัว จึงให้อภัย  พยายามคุยให้เขาปรับตัวใหม่ หากทำดีก็จะกลับไป จนกระทั่งเขาออกบวชได้ 3 เดือนก็ถูกจับสึกและติดคุกเพราะเสพยา  เมื่อถูกปล่อยตัว  เขาก็ออกมาทำร้ายอีก ตนถูกลากขึ้นรถแท็กซี่ไป เมื่อถึงบ้านของเขาก็ถูกทุบตีอย่างหนัก ใช้มีดแทง และฟันมือจนเส้นเอ็นขาด ต้องหนีไปซ่อนตัวที่บ้านญาติ แต่เขาก็ตามไปทำร้ายอีก ทางญาติตามคนมาช่วยตนจึงรอดมาได้  หลังจากวันนั้นเป็นต้นมาก็แจ้งความเอาผิดและได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  และตนก็ไม่ไปเจอเขาอีกเลย ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ส่วนตัวเชื่อว่าหากผู้หญิงที่เจอสถานการณ์แบบตน  อย่าทน  เพราะผู้ชายที่เคยทำร้ายเราแล้วครั้งหนึ่งก็มีโอกาสที่เขาจะทำร้ายเราเรื่อยๆ ซึ่งในช่วงโควิดนี้ตนก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ใช้ชีวิตยากลำบาก  รายได้ลดลงไปมาก ตอนนี้ตนท้องได้เจ็ดเดือนกับสามีใหม่ ก็มีปากมีเสียงกันบ้างในช่วงโควิด  แต่ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านเรื่องเลวร้ายมามาก ทำให้ครอบครัวของเรา  รู้จักปรับตัวผ่อนหนักเป็นเบา  มีกติกาชีวิตร่วมกันไม่ข้ามเส้นไปใช้ความรุนแรง  และตอนนี้ก็มีเพื่อนๆที่เจอปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเข้ามาขอคำปรึกษาอยู่บ่อยๆ  เข้าใจว่าภาวะความเครียดที่มากกว่าปกติในช่วงโควิดนี้  จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงในครอบครัวได้