ในประเทศ

“มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล” ห่วงสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว อึ้งยุคโควิดเพิ่มร้อยละ 20

เปิดผลวิจัย ตปท.ชายก๊งเหล้าหนักร้อยละ13  เคยทำร้ายเมีย-แฟนสาว “มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล” ห่วงสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวอึ้งยุคโควิดเพิ่มร้อยละ 20 ชงเร่งแก้ปัญหาดื่มหนัก-ปรับทัศนคติชายเป็นใหญ่ เตือนเหยื่อ-ผู้พบเห็นอย่าเฉย รีบแจ้งเอาผิด ก่อนเหตุรุนแรงกลายเป็นฆาตกรรม

วันนี้ (26 พฤษภาคม 2564 ) นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผอ.สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยนานาชาตินำโดย Anne-Marie Laslett จากมหาวิทยาลัย La Trobe ประเทศออสเตรเลีย ได้สำรวจกลุ่มผู้ชาย ระหว่าง18 – 49 ปี ที่แต่งงานแล้วหรือเคยคบหากับเพศหญิง 9,148 คน จาก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ, กัมพูชา, จีน, อินโดนีเซีย, ปาปัวนิวกินี, ศรีลังกาและติมอร์เลสเต เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์ ทัศนคติต่อความเท่าเทียมทางเพศ พบว่าร้อยละ 13 ที่กระทำความรุนแรงในคู่รักทั้งร่างกาย และทางเพศ อีกทั้งถ้าดื่มหนักหรือ 6 แก้วขึ้นไปต่อการดื่มในแต่ละครั้ง จะเพิ่มโอกาสทำร้ายคู่ครองเพิ่มขึ้นทวีคูณ มาตรการในการปกป้องเพศหญิงจากการถูกคู่ครองทำร้ายจึงต้องมุ่งเป้าไปที่ทั้งการลดการดื่ม และลดทัศคติชายเป็นใหญ่ของสังคมลง

“ในประเทศไทยไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้โดยตรง แต่เคยมีการศึกษาในคนทั่วไป พบว่าร้อยละ 80 ได้รับผลกระทบจากคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ ก่อความรำคาญ การกระทบกระทั่งกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทางเพศก็ต้องแก้ที่สาเหตุ 2 อย่างนี้ คือแอลกอฮอล์ เช่นทำให้ราคาสูง เพิ่มภาษี จำกัดการเข้าถึง อาทิ การจัดช่วงเวลาและห้ามโฆษณาซึ่งมีอยู่แล้ว แต่ต้องบังคับใช้เข้มข้น ส่วนการปรับทัศนคติต้องรณรงค์ให้เข้าใจถึงความเท่าเทียมกันของชายหญิงมากขึ้น” นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว

ด้าน นายจะเด็จ  เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากผลการศึกษาในต่างประเทศนั้น คล้ายกับสถานการณ์ในไทย เนื่องจากทัศนคติของชายเป็นใหญ่ มีอำนาจเหนือผู้หญิง เมื่อดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปแล้ว ยิ่งทำให้มีความกล้าที่จะทำในสิ่งต่างๆ ที่คนทั่วไปไม่ทำ เมื่อผู้หญิงห่วงใยตักเตือนก็จะทำให้โมโห โดยเฉพาะหากเตือนในวงเหล้าจะทำให้ผู้ชายรู้สึกว่าเสียศักดิ์ศรี จึงนำมาสู่การใช้ความรุนแรง ฆ่ากันตายในบ้าน บาดเจ็บ พิการ และเพิ่มโอกาสให้ลูกหลานในบ้านซึมซับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นปัญหาที่พบมานาน จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้น ราวๆร้อยละ 5-10 ยิ่งในช่วงโควิด มูลนิธิฯ ได้รับรายงานความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20

“เหล้าคือสัญญะของชายเป็นใหญ่ ดื่มแล้วจะเป็นแมน แสดงความเป็นชาย มีอำนาจ มีเพื่อนฝูง แสดงออกถึงความกล้า เช่น ไปทะเลาะกับคนอื่น อะไรที่ไม่กล้าทำก็จะทำ และผู้ชายที่ดื่มส่วนใหญ่ จะรู้ว่าตัวเองมีอำนาจเหนือครอบครัวภรรยาจะมายุ่งไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่ของเขากับเพื่อนๆ ถ้ามายุ่งจะมีความโกรธ เมื่อภรรยาเตือนหรือแนะนำไม่ให้ดื่ม จะนำไปสู่การทะเลาะ มีปากเสียงถึงขั้นทำร้ายร่างกาย” ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าว

            นายจะเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหานี้ต้องใช้เวลา โดยลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับการปรับทัศนคติชายเป็นใหญ่ กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ที่สำคัญ หากเกิดความรุนแรง ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อต้องแจ้งความ หรือขอความช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยุติความรุนแรงนั้น รวมถึงเพื่อนบ้าน คนที่พบเหตุการณ์ต้องอย่านิ่งเฉยแล้วมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ทะเลาะกันเดี๋ยวก็ดีกัน ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงซ้ำ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นฆ่ากันได้ ผู้พบเห็นต้องแจ้งความหรือแจ้งหน่วยงานช่วยเหลือ 1300 ขอย้ำ ว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ง่าย ต้องใช้เวลา แต่ขอให้ทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิฯ พยายามเข้าไปช่วยเหลือให้ผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า และเลิกใช้ความรุนแรง บางรายต้องใช้จุดที่ผู้ชายมีความผูกพัน เช่น ความรักลูก หรือสร้างงาน จัดให้มีกิจกรรมที่สนใจ พบบางคนสามารถเลิกพฤติกรรมได้เร็วสุดคือ 6 เดือน บางรายใช้เวลาเป็นปี บางคนใช้เวลามากกว่านั้น