สสส. – ภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคอีสาน ผนึกกำลัง จ.นครพนม ‘สานสุขไทอีสาน’ขับเคลื่อนกลไกสุขภาวะเชิงพื้นที่

สสส. – ภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคอีสาน ผนึกกำลัง จ.นครพนม ‘สานสุขไทอีสาน’ขับเคลื่อนกลไกสุขภาวะเชิงพื้นที่ยกระดับการมีส่วนร่วม-พัฒนาองค์ความรู้ – เชื่อมภาคีทุกมิติ สนับสนุนการรับมือสังคมสูงวัย – ปัญหาเด็กเยาวชน สังคมสุขภาวะอย่างยั่งยืน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 7 ก.ค. 2568 ที่ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี มหาวิทยาลัยนครพนม จ.นครพนม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำคณะสื่อมวลชนสัญจรลงพื้นที่ศึกษาดูงานภายใต้แผน 13 ด้านการขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชน และเยี่ยมชมการทำงานของภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคอีสานภายใต้โครงการสานสุขไทอีสาน โดยรศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กรรมการกองทุน สสส. และประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 7 สสส. กล่าวว่า สสส.ได้สนับสนุนและร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนขบวนการสร้างเสริมสุขภาพให้ทุกคนในสังคมไทยมีสุขภาพดี จากการดำเนินงานในพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด พบว่าแต่ละจังหวัดมีหน่วยงาน บุคคล กลุ่ม องค์กรชุมชน สถาบันการศึกษา และภาคีเครือข่าย ดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพหลากหลายลักษณะ การขับเคลื่อนงานในประเด็นที่หลากหลาย ตามบริบทของพื้นที่ ทำให้งานสร้างเสริมสุขภาพเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง ทั้งงานเชิงประเด็น และเชิงพื้นที่ ครอบคลุมภาคอีสาน 20 จังหวัด จำนวน 342 โครงการ เกิดรูปธรรมความสำเร็จทั้งในด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีจากการกระบวนการแบบมีส่วนร่วม มีพื้นที่ตัวอย่าง บุคคลต้นแบบ เกิดเป็นชุดองค์ความรู้ที่สามารถใช้เป็นแนวความคิด และแนวทางแก้ไขปัญหาสุขภาวะของชุมชนสังคม

“จ.นครพนม มีการทำงานขับเคลื่อนผ่าน โครงการเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคอีสาน ‘สานสุขไทอีสาน’ มุ่งพัฒนาระบบกลไกสนับสนุน เพื่อสร้างพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนสนับสนุนการยกระดับงานสร้างเสริมสุขภาพของภาคีสุขภาวะ มีกลไกเชื่อมประสานระหว่างภาคีเครือข่ายภาคอีสาน ที่เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วม โดยมีบทบาทสำคัญในการประสานและส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันของภาคีและเครือข่ายในภูมิภาค กระตุ้นให้เกิดการยกระดับการทำงานแบบมีเป้าหมายร่วม รวมถึงสนับสนุนกิจกรรม และพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ผ่านประเด็นสุขภาวะที่สำคัญในพื้นที่ 6 ประเด็น 1. การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม 2. ผู้สูงอายุ 3. อาหารปลอดภัย 4. เด็กและเยาวชน 5. สุขภาพจิต 6. แอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด มีแนวทางการดำเนินงาน คือ 1. การพัฒนากลไกเชื่อมประสานภาคีเครือข่าย 2. การพัฒนาระบบสนับสนุน 3. การสนับสนุนพื้นที่กลางเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้” รองศาสตราจารย์นายแพทย์สรนิต กล่าว

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนอาวุโส และรักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ กล่าวว่า สํานักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ มีบทบาทเป็น ผู้สนับสนุน ที่จะช่วยอำนวยความสะดวก และเสริมพลังในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพของภาคีเครือข่าย เป็นตัวกลางเชื่อมประสานภาคี หนุนเสริมความเข้มแข็งให้ภาคีการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สสส. ร่วม มหาวิทยาลัยนครพนม ในการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคอีสาน พัฒนากลไกเชื่อมประสานภาคีสุขภาวะในพื้นที่ภูมิภาค เพื่อเป็นกลไกกลางในการสนับสนุนภาคีเครือข่ายในภูมิภาค เปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แชร์ประสบการณ์การทำงานแบบข้ามพื้นที่ ข้ามประเด็น พัฒนาระบบสนับสนุนเพื่อหนุนเสริมความเข้มแข็ง นำไปสู่ความร่วมมือกันระหว่างภาคีเครือข่ายในพื้นที่ในการยกระดับการทำงานของภาคีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดรูปธรรมการบูรณาการทำงานของภาคีและยกระดับการขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่ โดยการขับเคลื่อนงานโครงการกลไกเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายภาคอีสาน (สานสุข ไทอีสาน) ได้มีการสนับสนุนให้เกิดสร้างการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยน ออกแบบการทำงานร่วมกันของภาคีที่หลากหลายทั้งเชิงประเด็น เชิงพื้นที่ สนับสนุนงานวิชาการเพื่อขับเคลื่อนงาน สร้างการมีส่วนร่วมของภาคียุทธศาสตร์ หนุนเสริมศักยภาพคณะทำงาน ตลอดจนหนุนเสริมให้เกิดการยกระดับการทำงานทั้งการบูรณาการการทำงานร่วม ขยายผลงาน และสนับสนุนให้เกิดการผลักดันเชิงนโยบาย ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพของภาคีเครือข่ายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.คณิน เชื้อดวงผุย ผู้รับผิดชอบโครงการสานสุขไทอีสาน กล่าวว่า โครงการ‘สานสุขไทอีสาน’สนับสนุนการพัฒนากลไกเชื่อมประสานภาคี และระบบสนับสนุนการเชื่อมประสาน กระตุ้น ประสานและสร้างโอกาสให้เกิดเชื่อมประสาน ทุน ทรัพยากร สนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันหรือขยายงานของภาคีและเครือข่ายต่างๆ ในภูมิภาค ภายใต้องค์ความรู้จากการปฏิบัติจริงของภาคีเครือข่ายภาคอีสาน ผ่าน 5 กลไกหลักในการเชื่อมประสาน ได้แก่ 1. คณะทำงานกลาง 2. คณะทำงานประเด็น 3. คณะทำงานวิชาการ 4. คณะทำงานสื่อ 5. แกนนำสุขภาวะในพื้นที่ ผลลัพธ์จากการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การสนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นรองรับสังคมสูงวัยภาคอีสาน สร้างกลไกระดับเขตที่เข้าใจแนวคิดและหลักการในการเตรียมรองรับสังคมสูงวัย รวบรวมฐานข้อมูล ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) ที่ใช้ในการ รวบรวม จัดเก็บ วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูลเชิงพื้นที่ แหล่งเรียนรู้ และสื่อดิจิทัล สร้างชุดข้อมูลสังเคราะห์บทเรียนการดำเนินงานและนวัตกรรม 3D จนเกิดเป็นความร่วมมือเพื่อขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่เขตสุขภาพภาคอีสาน ส่วนการขับเคลื่อนประเด็นเด็กและเยาวชน เกิดการเชื่อมร้อยภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานเยาวชน สร้างความร่วมมือภาคีเครือข่าย ยกระดับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน

