กิจกรรม-ภาพสังคมในประเทศ

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เร่งติดอาวุธทางปัญญา สร้างคนต้นแบบรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ป้องกันสื่อร้าย กระจายสื่อดี

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เร่งพัฒนาศักยภาพเครือข่ายให้มีความเชี่ยวชาญรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อด้วยการสร้างต้นแบบเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญรู้เท่าทันสื่อ  Media Literacy Expert (MeLEx) ซึ่งเป็นการอบรมเพื่อสร้างทักษะความเชี่ยวชาญด้านการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อและนำไปถ่ายทอดให้ความรู้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนให้รู้เท่าทันสื่อที่ไม่ปลอดภัยไม่สร้างสรรค์ รวมทั้งเฝ้าระวังสื่อดังกล่าวด้วย

ดร.ธนกร ศรีสุขใสผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของสื่อเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งระบบการสื่อสารและสื่อสารมวลชน เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เกิดจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ก่อให้เกิดสื่อและบริการใหม่ๆ กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการใช้สื่อของประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของสื่อเก่าและสื่อใหม่ก็ยังไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้ทั้งหมด เป็นเพียงการเพิ่มบทบาทของสื่อชนิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ทำให้ประชาชนต้องมีการตระหนักรู้ถึงสื่อปลอดภัยและสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ และด้วยวิกฤตจากภัยหลอกลวงออนไลน์สารพัดรูปแบบที่กำลังรุกหนัก  ทำให้ผู้คนโดนหลอกให้เสียหายทั้งทรัพย์สินเงินทอง ความรู้สึก เป็นจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างคนให้มีทักษะและศักยภาพ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ เพื่อนำไปถ่ายทอดความรู้แก่ผู้อื่นต่อไป  จึงได้จัดให้มีการอบรมต้นแบบเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญรู้เท่าทันสื่อ Media Literacy Expert (MeLEx) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ สถานการณ์สื่อปัจจุบัน ทักษะการวิเคราะห์สื่อ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ เทคนิคการสอนและการบรรยายไปยังเครือข่าย รวมทั้งยังส่งเสริมการพัฒนา สร้างทักษะ และสร้างภูมิคุ้มกันในการรู้เท่าทันสื่อให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปด้วย

ทั้งนี้ในการเปิดรับสมัครมีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมอบรมจำนวนมากและมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการอบรมทั้งหมด  60 ท่าน จากหลากหลายอายุ อาชีพ ทั้งนักศึกษา วัยทำงาน และวัยเกษียณ โดยจัดอบรมทั้งหมด 4 ครั้ง ตั้งแต่วันเสาร์ที่  27 มกราคม 2567 ถึงวันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 โดยวิทยากร นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายองค์กร ผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรและคัดเลือกผู้ผ่านคุณสมบัติขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญรู้เท่าทันสื่อของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

สาระสำคัญในกิจกรรมการอบรมที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับ จะมีเรื่องสถานการณ์ของสื่อ ที่จะต้องอัปเดตอยู่ตลอดเวลา ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง พัฒนาการตั้งแต่สื่อเก่า จนถึงสื่อใหม่มาสู่สื่อดิจิตอล โดยจะได้เรียนรู้ 4 หลักสูตร ดังนี้

1.พื้นฐานสื่อ(สถานการณ์สื่อปัจจุบัน)

2.ทักษะการวิเคราะห์สื่อเพื่อการรู้เท่าทันสื่อ

3.กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ

4.เทคนิคการสอนและการบรรยาย

วันที่อบรมหัวข้อการอบรม
27 ม.ค. 67สถานการณ์สื่อ การจำแนกประเภทสื่อสื่อแฝงและสื่อที่มีผลต่อผู้ชม
3 ก.พ. 67ทักษะการวิเคราะห์สื่อเพื่อการรู้เท่าทัน ทำไมต้องเท่าทันสื่อทฤษฎีรู้เท่าทันสื่อแหล่งที่มาของสื่อการวิเคราะห์เนื้อหาของสื่อสื่อกับสุขภาพกายและสุขภาพจิต
10 ก.พ. 67พื้นฐานสื่อ สื่อสมัยใหม่ใกล้มากกว่าที่คิด กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ กฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์กับการใช้สื่อที่ถูกต้องกฎหมายPDPAกับการใช้สื่อที่ถูกต้องกฎหมายและข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้สื่อ
17 ก.พ. 67ทักษะการวิเคราะห์สื่อเพื่อการรู้เท่าทัน การหลอกลวงออนไลน์ การสอนและการบรรยาย บุคลิกภาพผู้สอนการผลิตสื่อการสอนวิเคราะห์รูปแบบของกลุ่มเป้าหมาย

ทางด้านคุณกาญจนาถ อุดมสุข อาจารย์สื่อสารการกีฬา มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ(วิทยาเขตสมุทรสาคร) หนึ่งผู้เข้าร่วมอบรม ได้กล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่า เป็นการเข้าร่วมอบรมครั้งที่ 2 เพื่ออัพเดทสถานการณ์สื่อ ซึ่งเรื่องสื่อเป็นเรื่องที่ปรับเปลี่ยนไปไวมาก ต้องอัปเดตอยู่ตลอดการอบรมครั้งนี้ทำให้เราจะได้สถานการณ์ใหม่ๆ ได้กรณีศึกษาใหม่ๆ และนำไปถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับให้กับนักศึกษาต่อไป

ในแง่ของผู้เข้าร่วมอบรมฯ เจนใหม่อย่างน้องแอลม่อน หรือ ปารณีย์ เพียรชูชัยพันธ์ นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่ถือเป็นตัวแทน Gen Z ที่ให้ความสนใจกับการอบรมครั้งนี้ ได้พูดถึงจุดประสงค์ในการเข้าอบรมว่า เพราะมีความสนใจในเรื่องของสื่อ และการรู้เท่าทันสื่อ และต้องการนำความรู้ความเข้าใจไปใช้ในการเรียนต่อทางด้านสื่อสารมวลชน จึงเห็นว่าการอบรมครั้งนี้จะมีประโยชน์ทั้งต่อตัวเอง และต่อผู้อื่นเป็นอย่างมาก

สำหรับบรรยากาศในการอบรม ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้ทั้งความรู้จากการบรรยาย การร่วมคิดวิเคราะห์ และทำกิจกรรมเวิร์คช็อปร่วมกัน เพื่อผนึกกำลังในการต้านทานสื่อไม่ดี และร่วมสร้างสรรค์สื่อที่เป็นประโยชน์ไปด้วยกัน

ดร.ธนกร กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดการอบรมเครือข่ายผู้รู้เท่าทันสื่อครั้งนี้ เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกองทุน ที่จะรณรงค์ส่งเสริมเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ เพราะสื่อที่ส่งผลกระทบเชิงลบ มีมากมายมหาศาล เราจึงคิดว่าควรมีผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประชาชนได้อีกทอดหนึ่ง โครงการนี้จึงเป็นการเทรนด์ เดอะเทรนเนอร์ ให้ความรู้ติดอาวุธทางความคิดและทักษะที่จำเป็น  เพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาสื่อจริงๆ แล้วหวังว่าจะมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายและนำความรู้ที่ได้ไปสู่ประชาชน เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อ ป้องกันสื่อร้าย ไม่ให้สร้างความเสียหาย พร้อมกับการเป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ดีๆ ไปด้วย