ในประเทศ

ไทยเจ้าภาพประชุม สสส.โลก “สสส.ไทย” ชูยุทธศาสตร์ “ไตรพลัง” หนุน “ปฏิญญากรุงเทพฯ” ขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ

ไทยเจ้าภาพประชุม สสส.โลก “สสส.ไทย” ชูยุทธศาสตร์ “ไตรพลัง” หนุน “ปฏิญญากรุงเทพฯ” ขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆสร้างเสริมสุขภาพสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมยกระดับสร้างความเข้มแข็งชาติสมาชิก มุ่งสู่เป้าหมายสร้างสุขภาพที่ดีทุกมิติให้กับมวลมนุษยชาติอย่างยั่งยืน

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงประเทศไทย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเครือข่ายกองทุนสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ ครั้งที่ 20 ประจำปี 2566 วันที่ 7-10 พฤศจิกายน 2566 ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กรุงเทพมหานครว่า การจัดประชุมครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญที่สุดของเครือข่ายกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ (the International Network of Health Promotion Foundations – INHPF) หรือ เครือข่าย สสส.โลก ที่มีชาติสมาชิกรวมตัวกันครั้งแรกในปี 2543 และมีการหมุนเวียนประเทศเจ้าภาพในการจัดประชุมประจำปีฯ ที่เรียกว่า INHPF Annual Meeting โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายฯ ผ่านการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์และการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือซึ่งกันและกัน พร้อมประกาศจุดยืนและความมุ่งมั่นของเครือข่ายฯในการยกระดับงานสร้างเสริมสุขภาพสู่วาระสุขภาพระดับโลก รวมถึงแลกเปลี่ยนแนวการดำเนินงานอันดีและบทเรียนในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพของประเทศไทยกับสมาชิกเครือข่าย INHPF และองค์กรพันธมิตรระดับสากล

ทั้งนี้ชาติสมาชิกเครือข่ายฯมีทั้งหมด 7 องค์กร ใน 6 ประเทศได้แก่ 1.กองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งแคว้นวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลียเป็นประธานเครือข่าย 2.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการเครือข่าย 3.กองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งแคว้นออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย 4.กองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ประเทศเกาหลี 5.สถาบันการสร้างเสริมสุขภาพไต้หวัน ประเทศไต้หวัน 6,กองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งตองงา ประเทศตองงา ทำหน้าที่เป็นเหรัญญิกเครือข่าย 6.สำนักงานคณะกรรมการสร้างเสริมสุขภาพสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ และ7.กองทุนสร้างเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีแห่งรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสมาชิกใหม่

“สสส.ไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมฯมาแล้วเมื่อปี 2556 ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และมีการจัดประชุมเรื่อยมาทุกปี เว้นช่วงที่มีโรคโควิดระบาดมีการจัดประชุมเครือข่ายออนไลน์ในปี 2564-2565 โดยมีประเทศสิงคโปร์และไต้หวันเป็นเจ้าภาพ และในปี 2566 นี้จะเป็นการจัดประชุมครั้งที่ 20 ซึ่ง สสส.ไทยได้รับเป็นเจ้าภาพ ภายใต้ธีมหลักเรื่อง “ก้าวต่อไปของเครือข่าย สสส. โลก : ขับเคลื่อนนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม” เพื่อให้เกิดการมองถึงทิศทางในระยะต่อไป หรือทศวรรษที่สามของเครือข่ายฯ ที่จะต้องหาแนวทางวิธีการใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนให้เกิดสุขภาวะที่เป็นธรรมของคนทุกกลุ่มในสังคม ทั้งในประเทศตนเองและข้ามพรมแดน ท่ามกลางความท้าทายใหม่ๆที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งด้านโครงสร้างประชากร โรคระบาด โรคอุบัติใหม่ (อาทิ Covid-19) เทคโนโลยีสมัยใหม่ แนวโน้มด้านสุขภาพของประชาชน สภาพแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งล้วนส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสภาวะสุขภาพของประชาชน”

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า กิจกรรมสำคัญในการประชุมครั้งนี้ มีการประกาศปฏิญญากรุงเทพฯเพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการยกระดับความสำคัญของงานสร้างเสริมสุขภาพสู่วาระสุขภาพระดับโลก การร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือของเครือข่ายฉบับใหม่ (INHPF Agreement) เพื่อยกระดับความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือของสมาชิกเครือข่ายที่มาจากหลายประเทศทั่วโลก มีเวทีเชิงวิชาการ 2 เวทีหลัก (Plenary Sessions) และ 4 เวทีการประชุมคู่ขนาน (Parallel Sessions) เพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติและนวัตกรรมการส่งเสริมสุขภาพที่ดีที่ทั้งของประเทศไทยและจากสากลที่ช่วยสนับสนุนการมีสุขภาวะที่เป็นธรรม การศึกษาดูงานเพื่อนำเสนอรูปธรรมและต้นแบบการดำเนินงานอันดีของงานสร้างเสริมสุขภาพของประเทศไทยสู่สายตาผู้เข้าร่วมจากนานาประเทศ พิธีการเชิงสังคมและกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์อื่นๆที่สอดแทรกศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์อันดีของไทย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานที่ผ่านมา สสส.และ เครือข่าย สสส.โลกมีบทบาทในการผลักดันให้มีการจัดตั้งกลไกนวัตกรรมการเงินการคลังที่ยั่งยืน เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพแบบ สสส.ผ่านการสนับสนุนโครงการ ProLEAD ของหลายภูมิภาค อาทิ WHO-WPRO WHO-EMRO และ WHO-SEARO ที่เสริมศักยภาพให้ประเทศในแต่ละภูมิภาคในการจัดตั้งกลไกดังกล่าวจนเกิดกองทุนสร้างเสริมสุขภาพใหม่ขึ้นในหลายประเทศ อาทิ มองโกเลีย เกาหลีใต้ เวียดนาม (กองทุนควบคุมยาสูบ) และ สปป.ลาว (กองทุนควบคุมยาสูบ) เป็นต้น

นอกจากนี้แต่ละองค์กรสมาชิกได้รับคณะศึกษาดูงานจากประเทศต่างๆทั่วโลก ยกตัวอย่าง เช่น สสส.ไทยได้รับคณะศึกษาดูงาน โดยเฉลี่ย 25-30 คณะต่อปี โดยผู้ศึกษาดูงานมาจากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก และ ได้ร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ขององค์กรสู่เวทีสากล และในปี 2567 นี้ จะมุ่งเน้น การสร้างความเข้มแข็งเชิงวิชาการที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมาชิกเครือข่ายฯ ผ่านการสกัดและถอดบทเรียนที่สำคัญของเครือข่ายฯ และการจัดกิจกรรมเชิงวิชาการเพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ การส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีและความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกเครือข่ายฯ ตลอดจนสร้างเสริมพันธมิตรภายนอกและขยายเครือข่ายไปสู่องค์กร เครือข่ายยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพในระดับนานาชาติ พร้อมสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสร้างเสริมสุขภาพใหม่ในประเทศที่มีศักยภาพและมีความสนใจ (อาทิ สาธารณรัฐจอร์เจีย ประเทศบังคลาเทศ) สร้างการรับรู้และการยอมรับในคุณค่าของเครือข่ายฯบนเวทีโลก

ผู้จัดการกองทุนสสส. กล่าวว่าการดำเนินงานของ สสส.ไทย ใช้ยุทธศาสตร์ “ไตรพลัง” เป็นการขับเคลื่อน 3 ประสาน คือ พลังปัญญา พลังนโยบาย และพลังสังคม เพื่อให้การขับเคลื่อนเรื่องใหญ่ๆยากๆไปสู่ความสำเร็จ โดย สสส.เองได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากทางรัฐบาลและรัฐสภาในการออกกฎหมายเพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนให้สังคมมีสุขภาวะที่ดีอย่างรอบด้านทุกมิติ ทั้งการมอบแนวนโยบายภาพรวมด้านสุขภาพของประเทศ รวมถึงการแนวนโยบายด้านการให้ความช่วยเหลือและการประสานความร่วมมือด้านสร้างเสริมสุขภาพกับประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศอื่นๆ ตลอดจนการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ อาทิ พรบ.ด้านควบคุมการบริโภคสุรา ยาสูบ ภาษีเครื่องดื่มมีน้ำตาล การห้ามจำหน่ายนำเข้าไขมันทรานส์ เป็นต้น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการออกกฎกติกาที่จะช่วยให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี”

ผู้จัดการกองทุนสสส. กล่าวว่าผลลัพธ์ที่ สสส.คาดหวังจากการประชุมครั้งนี้ คือการต่อยอดและสร้างประโยชน์ต่องานสร้างเสริมสุขภาพของประเทศไทย อาทิ สสส.และภาคีเครือข่ายไทย ได้รับการหนุนเสริมความรู้และศักยภาพจากการแลกเปลี่ยนความรู้และการแบ่งปันประสบการณ์กับสากล ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งวิธีการใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการเสริมสร้างสุขภาพให้คนไทย อาทิ ความเข้าใจที่มากขึ้นของทิศทาง และมุมมองด้านการสร้างเสริมสุขภาพในทศวรรษต่อไป หรือ นวัตกรรมเพื่อการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เกิดความมุ่งมั่นและพันธมิตรจากการร่วมกันประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นจุดยืนของทุกองคาพยพของเครือข่าย สสส.โลกฯ นำโดย สสส.ไทยในการยกระดับงานสร้างเสริมสุขภาพให้มีความสำคัญมากขึ้นและเข้าสู่วาระสุขภาพระดับโลกได้ต่อไป นานาชาติยอมรับในนวัตกรรมและต้นแบบการดำเนินงานอันดี (Best Practices) ในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพของประเทศไทย