ในประเทศ

ภาคประชาชน ยื่นหนังสือขอบคุณ “อนุทิน – สธ.” บังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดผลกระทบสุขภาพ –สังคม

ภาคประชาชน ยื่นหนังสือขอบคุณ “อนุทิน – สธ.” บังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดผลกระทบสุขภาพ –สังคม ย้ำ 15 ปี ถึงเวลาปรับแก้กฎหมาย ต้องเข้มขึ้น  แนะปรับมาตรา 32 คุมห้ามใช้โลโก้เหมือนน้ำเมา โฆษณาน้ำดื่ม-โซดา ออกเกณฑ์ชี้วัดฝีมือกก.น้ำเมาจังหวัด ค้านสุดตัวข้อเสนอทุนน้ำเมาขอขยายเวลาขาย 11.00-24.00 น.

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 66 ที่กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กว่า 30 คน ยื่นหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากในโอกาสครบรอบ 15 ปี ที่มีการบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อแสดงความขอบคุณที่กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คุ้มครองสุขภาพประชาชนและป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ โดยมีนพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดสธ. เป็นผู้รับมอบหนังสือ ในโอกาสนี้เครือข่ายฯ ยังทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ปกป้อง พ.ร.บ.คุมน้ำเมา” และคัดค้านข้อเสนอของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จะให้ขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น จาก 11.00-24.00 น. เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ

นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันเริ่มต้นบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประชาชนมากกว่า 13 ล้านคนลงชื่อสนับสนุน เพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกมิติ ทั้งความรุนแรงในครอบครัว อุบัติเหตุ อาชญากรรม คุ้มครองสุขภาพประชาชน ป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงได้ง่าย ทั้งนี้จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 ที่สำรวจผู้ที่อายุ 15 ขึ้นไปพบว่าผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มจาก 38.68 ล้านคนในปี 2554 มาเป็น 41.04 ล้านคนในปี 2564 หรือคิดในทางกลับกันคือมีนักดื่มลดลงประมาณ 2.3 ล้านคน  เมื่อคำนวณปริมาณเอทานอล บริสุทธิ์ต่อหัวประชากรที่ดื่มพบว่า อยู่ในระดับทรงตัว คือ 7.1 ลิตรต่อปี แต่เมื่อคำนวณต้นทุนที่สูญเสียจากปัญหาการดื่มในปี 2564 สูงกว่า 1.65 แสนล้านบาท และจากการสำรวจความเห็นประชาชนของของศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ 2564 พบว่า 70% เห็นด้วยกับการห้ามโฆษณา และ 74 % ไม่เห็นด้วยที่จะขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากขึ้นตามข้อเสนอของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของเครือข่ายที่คัดค้านในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเพียงการสนองตอบผลประโยชน์ทางธุรกิจ  แต่สังคมโดยรวมเสียหายมากกว่า

ด้านนายธีระ วัชระปราณี ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่าในโอกาสครบรอบ 15 ปี พ.ร.บ.นี้เครือข่ายฯ จึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอ ดังนี้ 1. ขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค และสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ คุ้มครองสุขภาพประชาชนและลดผลกระทบทางสังคม 2. ขอบคุณ 13 ล้านรายชื่อที่ร่วมผลักดันกฎหมายฉบับนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว และมีส่วนสำคัญในการเฝ้าระวัง สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายจนถึงปัจจุบัน 3.เนื่องจากกฎหมายใช้มานาน เมื่อต้องปรับปรุงแก้ไข ต้องยึดหลักการแก้ไขให้ดีขึ้น เข้มแข็งขึ้น โดยแก้ไขมาตรา 32 ห้ามใช้ตราสัญลักษณ์ (โลโก้) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปโฆษณาสินค้าอื่น อาทิ น้ำดื่ม โซดา เป็นต้น กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนกรณีมาตรา 29 ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้คนเมาครองสติไม่ได้ ให้ผู้ขายผู้ให้บริการเป็นแนวปฏิบัติได้จริง รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุราอย่างจริงจัง สร้างแรงจูงใจให้ผู้ติดสุราเข้าสู่การบำบัด เป็นต้น  4. ขอให้กระทรวงสาธารณสุขกำหนดตัวชี้วัดการทำงานของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด รวมถึง กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากเครือข่ายฯ พบว่า15 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ยังทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ขาดความเอาใจใส่จริงจังโดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย และ 5. เครือข่ายยินดีสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างเต็มที่