สาธารณสุขในประเทศ

“สสส.-สธ.-มสช.”ผนึกพลังดึงชุมชนท้องถิ่นร่วมเดินหน้าส่งเสริม-ป้องกันปัญหาสุขภาพจิต

วันที่ 8 ก.ย. 2565 นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันที่ 10 ก.ย. ของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) เพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตที่สามารถป้องกันได้ ไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องความต้องการการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตกับจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิตที่มีอยู่ไม่สมดุล สสส. ร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จัดเวทีโต๊ะกลมเสวนาออนไลน์ “พลังชุมชนท้องถิ่นร่วมส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตคนไทย” เร่งเสริมความพร้อมขับเคลื่อนการทำงานด้านการพัฒนาสุขภาพจิตในระดับพื้นที่ ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนท้องถิ่นในสถานการณ์วิกฤตและตลอดช่วงชีวิต นำร่องใน 10 พื้นที่ อาทิ 1.อบต.วังสะพุง อ.วังสะพุง จ.เลย 2.อบต.วังกรด อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร 3.รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

“ชุมชนมีต้นทุนในการจัดการปัญหาด้านสุขภาพจิตในพื้นที่ พร้อมสนับสนุน ช่วยคัดกรอง ติดตาม ประเมินผลผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต การจัดเสวนาครั้งนี้ ได้นำตัวอย่างบทเรียนส่งเสริมสุขภาพจิตระดับชุมชน พร้อมข้อเสนอแนะความต้องการสนับสนุน ที่ชุมชนสามารถบริหารจัดการปัญหาสุขภาพจิตอย่างเข้มแข็ง เห็นว่าปัญหาสุขภาพจิตในพื้นที่ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ ทั้งนี้ สสส. ร่วมสนับสนุนภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรมแพลตฟอร์มออนไลน์ และ Dmind ระบบปัญญาประดิษฐ์คัดกรองภาวะซึมเศร้า เพื่อทดแทนความต้องการการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ถือเป็นเครื่องมือที่คนในชุมชนสามารถเข้าไปประเมินตัวเองได้ง่ายๆ มีผลที่แม่นยำ” นายชาติวุฒิ กล่าว

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์การฆ่าตัวตายทั่วโลกมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตมีปริมาณมากขึ้น และคาดการณ์ว่า 10 ปีข้างหน้า สุขภาพจิตจะกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้เกิดการสูญเสียเป็นอันดับ 1 ของโรคไม่ติดต่อทั้งหมด ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีค่าเฉลี่ยการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 500-1,000 คนต่อปี ในปี 2564 มีคนฆ่าตัวตายถึง 5,000 ราย สาเหตุของการฆ่าตัวตาย 1.ปัญหาด้านความสัมพันธ์ 50% 2.ปัญหาเรื่องสุขภาพ 30% 3.ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ อื่นๆ 20% ปัญหาที่มีแนวโน้มมากขึ้น แต่บุคลากรด้านสุขภาพจิตกลับเป็นสาขาที่มีจำนวนจำกัด จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น มีไม่ถึง 200 คน จิตแพทย์ 1,000 คน นักจิตวิทยา 1,000 คน ซึ่งการจะเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอต้องใช้เวลาถึง 5-10 ปี

“การทำงานแบบดั้งเดิมที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลอาจไม่ตอบโจทย์ ปัญหาสุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องของทุกคน  กรมสุขภาพจิต สธ. จึงหันมาร่วมมือกับองค์กรภายนอก เช่น ทำงานสุขภาพจิตร่วมกับ อสม.ที่มีอยู่ 1 ล้านคนทั่วประเทศ ผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ การทำงานร่วมกับ มสช. สสส. และภาคีเครือข่าย ในการฝึกให้ทุกคนในชุมชนเป็นบุคลากรด้านสุขภาพจิต และเริ่มทำงานตั้งแต่ระดับครอบครัวให้สามารถสังเกตอาการโรคพื้นฐาน เช่น โรคซึมเศร้า สัญญาณการฆ่าตัวตาย มีทักษะการรับฟัง การให้กำลังเชิงบวก ขณะที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โครงการ HOPE Task Force หรือทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย ที่ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ช่วยชีวิตผู้ที่ต้องการฆ่าตัวตายให้รอดชีวิตได้กว่า 400 คน ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการวัดการช่วยเหลือให้คนไม่ฆ่าตัวตาย แต่เมื่อเทียบกับอัตราการฆ่าตัวตายที่ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ การส่งเสริมและป้องกันเป็นหน้าที่ทุกคน ดังนั้นการสร้างความร่วมมือในระดับชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน” ดร.นพ.วรตม์ กล่าว

นางจันทรา หาญสุทธิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ต.ผักไหม มีประชากร 7,160 คน มีผู้ป่วยจิตเวชกว่า 20 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่แพทย์วินิจฉัยและญาติเห็นด้วย 7 คน และแพทย์วินิจฉัยแต่ตัวผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยไม่เห็นด้วยกว่า 10 คน ในปี 2562 และ 2564 มีคนฆ่าตัวตายที่แพทย์วินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคจิตเวชแต่ไม่แสดงอาการ อบต.ผักไหมเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น ได้จัดเวทีประชาคมตำบล ตั้งคณะทำงานสร้างเสริมสุขภาพจิต Long Term Care นำองค์ความรู้การป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ของ สสส. มสช. เข้ามาช่วยคัดกรอง ติดตาม ประเมินผลรายหมู่บ้าน มีการเก็บฐานข้อมูลที่แม่นยำ ถือเป็นการทำงานเชิงรุกในการลดปัญหาด้านสุขภาพจิตที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตายในระดับพื้นที่

นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนท้องถิ่นในสถานการณ์วิกฤตและตลอดช่วงชีวิต กล่าวว่า โครงการฯ เน้นพัฒนากลไกการเฝ้าระวังและกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพจิตเพื่อลดและป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในวัยแรงงานในชุมชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ รวมถึงผู้สูงวัย ผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ มุ่งเป้าสร้างแกนนำการส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่นเข้าร่วมอย่างน้อย 10 คน เสริมองค์ความรู้ไปปรับประยุกต์ ผลิตเป็นเครื่องมือเสริมการทำงานให้แข็งแกร่ง เข้าถึงได้ง่าย เกิดพื้นที่ต้นแบบนำไปสู่การขับเคลื่อนงานเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป