มูลนิธิเอสซีจี ผนึกกำลังเครือข่าย สร้างพื้นที่ต้นแบบ “Learn to Earn Sandbox” สระบุรีกินได้ พัฒนา 5 อาชีพใหม่ เพื่อสร้างโอกาสการมีงาน ลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

แม้แนวคิด “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Lifelong Learning) จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในยุคที่เทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI เข้ามาเปลี่ยนโลกอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้สิ่งใหม่จึงกลายเป็นทักษะจำเป็น ในโลกการทำงานปัจจุบัน หลายอาชีพกำลังเปลี่ยนแปลงหรือหายไป ขณะเดียวกันก็เกิดอาชีพใหม่และทักษะใหม่ตามมา หากไม่ปรับตัว อาจกลายเป็นคนตกยุค การเรียนรู้จึงต้องเกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา และตลอดชีวิต ไม่จำกัดแค่ในห้องเรียนหรือช่วงวัยอีกต่อไป การศึกษาในปัจจุบันจึงต้องปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง มูลนิธิเอสซีจีได้ริเริ่มแนวคิด LEARN to EARN – เรียนรู้เพื่ออยู่รอด เพื่อส่งเสริม การเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและการทำงานในโลกยุคใหม่ ทั้ง Hard Skills (ทักษะวิชาชีพ) และ Soft Skills (ทักษะชีวิต) ให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้มูลนิธิฯ ได้ริเริ่มโครงการ LEARN to EARN Sandbox โมเดลต้นแบบ สร้างโอกาสการมีงานทำในพื้นที่สระบุรี

บัญชา เชาววรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัด สระบุรี กล่าวถึงโครงการ LEARN to EARN Sandbox ว่า “จังหวัดสระบุรีของเราเป็นพื้นที่ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพด้วยที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่โดดเด่นซึ่งเอื้อต่อการคมนาคมขนส่ง ทำให้สระบุรีเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ หรือภาคเกษตรกรรม ที่ล้วนสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับจังหวัดสระบุรีให้ก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการ ‘สระบุรี Sandbox’ ร่วมกับภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ มาตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาสมดุลของธรรมชาติ
นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและสร้างรายได้ที่มั่นคงยิ่งขึ้น ตลอดจนการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ให้สระบุรีกินได้ เกิดขี้นจริง และในปีนี้จังหวัดสระบุรีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญ นั่นคือการผนึกกำลังร่วมกับมูลนิธิเอสซีจีและองค์กรเครือข่าย เพื่อดำเนินโครงการ ‘Learn to Earn Sandbox’ ที่มาช่วยเติมเต็มโครงการสระบุรี Sandbox ในมิติทางสังคมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน นั่นคือ การส่งเสริมด้านการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยโครงการนี้มุ่งเน้นการยกระดับความรู้ความสามารถของคนในพื้นที่ ให้พวกเขามีทักษะที่จำเป็นและทันสมัย สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงอาชีพที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ คือ
1.ระยะสั้น Quick Win ฝึกอาชีพที่พร้อมทำงานทันที 5 อาชีพ ได้แก่ ผู้ช่วยพยาบาล พนักงานขับรถ ช่างแอร์ ช่างประปา และไกด์ชุมชน
2.ระยะยาว เน้นต่อยอดพัฒนาแรงงานฝีมือในสาขาที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะ ได้แก่ ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม อีกด้วย
ผมมองว่าแนวคิด Learn to Earn ที่เรากำลังขับเคลื่อนกันอย่างเต็มที่ในโครงการสระบุรี Sandbox นี้ ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ทั่วไป แต่มันคือ แนวคิดในการสร้างคนให้พร้อมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการเปิดโอกาสทางการเรียนรู้ พัฒนาทักษะ และต่อยอดสู่การมีอาชีพ รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคง เป้าหมายของเราชัดเจน คือเรามุ่งหวังให้พี่น้องชาวสระบุรี ‘กินได้’ อย่างแท้จริง ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและในมิติของคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมมือกันขับเคลื่อนและลงมือทำโครงการนี้อย่างจริงจัง ผมเชื่อมั่นว่าพลังแห่งความร่วมมือนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของจังหวัดเรา นี่คือการพัฒนาทุกภาคส่วนในจังหวัดสระบุรีให้เติบโตไปด้วยกัน โดยที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกคนจะมีโอกาสในการเรียนรู้ พัฒนาตนเอง และมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตของจังหวัด ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จในทุกมิติ และสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมเชิงประจักษ์จนสามารถขยายผลสร้างพื้นที่ LEARN to EARN Sandbox ในจังหวัดอื่นๆ ต่อไปได้ในอนาคต เพราะถ้าสระบุรีทำได้ จังหวัดอื่นก็ทำได้ นี่คือความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ที่ต้องการส่งต่อไปยังทั่วประเทศ เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับทุกพื้นที่ในประเทศไทย”
Learn to Earn Sandbox โครงการนำร่องที่จะพลิกโฉมจังหวัดสระบุรีสู่การเป็นต้นแบบการพัฒนาได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานจัดหางานจังหวัดสระบุรี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสระบุรี โรงพยาบาลสระบุรี เรือนจำสระบุรี วิทยาลัยเทคนิคท่าหลวงซิเมนต์ไทยอนุสรณ์ วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี โรงเรียนทักษะพิพัฒน์ คิวช่าง บริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรม จำกัด และมูลนิธิเอสซีจี โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดให้ก้าวทันทุกการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญคือ สร้างสรรค์ 5 อาชีพใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบัน

ด้านยุทธนา เจียมตระการ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวเสริมว่า “ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้ การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และนี่คือเหตุผลที่แนวคิด Learn to Earn คือคำตอบสำคัญที่เข้ามาช่วยให้เรามั่นใจได้ว่า ทุกสิ่งที่เราเรียนรู้จะไม่สูญเปล่า แต่จะกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ช่วย สร้างรายได้ สร้างอาชีพ และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับชีวิตได้อย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการร่วมมือกับทางจังหวัดและองค์กรเครือข่ายในการพัฒนา 5 อาชีพ (Quick Win) ที่ตอบโจทย์ตลาดในปัจจุบันแล้ว

ในปีนี้ มูลนิธิฯ ยังได้เดินหน้าจัดอบรมเพื่อพัฒนา Soft Skills ซึ่งถือเป็นทักษะที่สำคัญไม่แพ้กัน เรามุ่งเน้นในเรื่องของการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ, การทำงานเป็นทีม, ความคิดเชิงสร้างสรรค์ และการปรับตัว ซึ่งทักษะเหล่านี้คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยสร้างความพร้อมในการทำงาน และเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ให้กับเยาวชนในพื้นที่ ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสระบุรีวิทยาคมและโรงเรียนแก่งคอย รวมถึง นักเรียนระดับชั้น ปวช.3 และ ปวส.2 จากวิทยาลัยเทคนิคสระบุรี ยิ่งไปกว่านั้น เรายังได้ขยายแนวคิด Learn to Earn ไปยังกลุ่ม ครูแนะแนวและผู้ปกครอง ในจังหวัดอีกด้วย เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับรู้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะอย่างรอบด้าน ทั้ง Hard Skills (ทักษะเฉพาะทาง) และ Soft Skills (ทักษะทางสังคมและอารมณ์) เรารู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะ เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของคนสระบุรี”


โครงการ Learn to Earn Sandbox ไม่ได้เป็นเพียงแค่โครงการนำร่อง แต่ยังเป็นภาพสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของจังหวัดสระบุรี ที่มุ่งมั่นจะเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการบูรณาการมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ความสำเร็จของโครงการนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับจังหวัดอื่นๆ ในการเดินหน้าพัฒนาประเทศอย่างรอบด้านและยั่งยืนต่อไป