สาธารณสุข

สสส.สานพลัง กษ.เนคเทค สร้าง “พลเมืองอาหาร” หลังพบคนไทยพฤติกรรมกินสุดเสี่ยง

วันอาหารโลก สสส.สานพลัง กษ.เนคเทค สร้าง “พลเมืองอาหาร” หลังพบคนไทยพฤติกรรมกินสุดเสี่ยง “ไขมันท่วม-แปรรูป-น้ำหวาน-อาหารขยะ” เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมช่วยเข้าถึงอาหารสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างระบบอาหารยั่งยืน

วันที่ 13 ต.ค.65 ที่ g Garden urban farming & farmers connected ถ.พระราม 9 กรุงเทพฯ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหารและร่วมปกป้องระบบอาหารที่ยั่งยืน สสส.สานพลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา วันอาหารโลก “Food For Better Life กินดี me สุข” เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ ให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เหมาะสมตามหลักโภชนาการ พร้อมพัฒนานวัตกรรมเชื่อมโยงอาหารจากการผลิต การกระจายสู่ผู้บริโภค เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย ลดความเหลื่อมล้ำในระบบอาหาร

“ประชาคมโลกมีการพัฒนาความก้าวหน้าในด้านต่างๆมากขึ้น แต่ยังพบคนจำนวนมากที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่สามารถเข้าถึงการพัฒนาทุนมนุษย์ นวัตกรรม และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพมาบริโภคได้ นำไปสู่ความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหารและภาวะทุพโภชนาการ จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของประชากร ปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่เก็บข้อมูล 84,000 ครัวเรือนทั่วไทย พบอาหารที่กินเป็นประจำ 3-7 วันต่อสัปดาห์ คือ อาหารไขมันสูง 42 % แปรรูป 39 % น้ำหวาน 34 % กลายเป็นรายจ่ายที่เกินความจำเป็นเฉลี่ย 7,450 บาทต่อสัปดาห์ สะท้อนความไม่มั่นคงทางอาหาร ที่ส่งผลให้หน่วยงานทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันยกระดับสิทธิด้านอาหาร ส่งเสริมโภชนาการ อธิปไตยทางอาหาร ความเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดระบบอาหารที่ยั่งยืน”

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า สสส.ได้กำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์เพื่อสร้างการเข้าถึงการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ สร้างค่านิยม พฤติกรรม และวิถีการบริโภคอาหารสุขภาพ ได้พัฒนาแบบทดสอบพลังพลเมืองอาหารในตัวคุณ 10 ข้อง่ายๆ เพื่อยกระดับผู้บริโภคเป็น “พลเมืองอาหาร” ที่มีความรู้ ความเข้าใจสิทธิในการเข้าถึงระบบอาหารที่ดี สามารถเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ใส่ใจต่อระบบนิเวศ และสนับสนุนอาหารท้องถิ่นสู่การเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนระบบอาหารและความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน ตั้งแต่มื้ออาหารของตนเอง ชุมชน และสังคม สามารถทดสอบความเป็นพลเมืองอาหารได้ที่ https://shorturl.asia/VstR5

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในการประชุมเอเปค 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความก้าวหน้าการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เสริมสร้างศักยภาพการพัฒนานโยบายสาธารณะเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร สนับสนุนการใช้ประโยชน์ทางการค้า เป็นเครื่องมือในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ สสส. ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ สนับสนุนให้มีระบบเกษตรกรรมยั่งยืน คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ความปลอดภัยของผู้บริโภค เพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตร ความสมดุลของระบบนิเวศ พัฒนาต้นแบบอาหารปลอดภัย “รำแดงโมเดล” ในพื้นที่สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 ในการผลิตพืชปลอดภัย ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ที่สามารถขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ

ดร.สุปิยา เจริญศิริวัฒน์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยติดตามสุขภาพและรูปแบบการดําเนินชีวิต เนคเทค กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้ร่วมกับ สสส. พัฒนาและจัดอบรมการใช้นวัตกรรม Thai School Lunch เครื่องมือสำหรับแนะนำครูบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและคำนวณปริมาณวัตถุดิบทำเมนูอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนได้กว่า 1,000 เมนู พร้อมเชื่อมโยงผลผลิตจากเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ชุมชนมาสู่การทำอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเหมาะสมตามหลักโภชนาการ พ่อ แม่ ผู้ปกครองสามารถติดตามการจัดอาหารรวมถึงพัฒนาการด้านน้ำหนัก-ส่วนสูงของลูกผ่านมือถือได้แบบเรียลไทม์ สำหรับประชาชนทั่วไป นวัตกรรมแอปพลิเคชัน Food Choice เครื่องมือช่วยเลือกซื้อสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ แสกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์ ข้อมูลบนฉลากโภชนาการจะถูกแสดงในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งทั้ง 2 นวัตกรรมนี้ ได้ถูกนำไปใช้ขยายผลในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ เพื่อสร้างเสริมความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ และปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ นำไปสู่การลดความเสี่ยงจากการเกิดโรค NCDs