ในประเทศ

องคมนตรี รับมอบผังแม่บทเพื่อสุขภาวะ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่งทั่วไทย

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ประธานคณะทำงาน การพัฒนาห้องสมุด อาคารเฉลิมพระเกียรติ และสิ่งแวดล้อมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงฯ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข รับมอบ “ผังแม่บทเพื่อสุขภาวะโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง” จาก ผศ. ดร.ปารเมศ กำแหงฤทธิรงค์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อกำหนดแนวทาง และพัฒนารูปแบบสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยเฉพาะการพัฒนาผังแม่บท แผนพัฒนาเชิงกายภาพ และการออกแบบต้นแบบพื้นที่อยู่ดีมีสุข ที่จะทำให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง สามารถพัฒนาสิ่งแวดล้อมได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวว่า ขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาคีสถาปนิก และ สสส. ที่ร่วมดำเนินงานพัฒนาผังแม่บทเพื่อสุขภาวะโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือ ที่วางอยู่บนศรัทธาและความมีน้ำใจ และขอบคุณแนวคิดการออกแบบผังแม่บทที่ว่า การจะออกแบบอะไรต้องเปิดรับความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และจะออกแบบที่ไหนต้องให้ตรงตามภูมิสังคมนั้น ๆ ผังแม่บทเพื่อสุขภาวะโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนี้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งความหวังว่าจะเป็นหลักยึดในการบริหารระบบกายภาพของแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งจะสร้างความสะดวกรวดเร็ว ความสบาย และความแม่นยำในการให้บริการอย่างยิ่ง ต่อไปในการพัฒนาสิ่งก่อสร้างของ รพ.สมเด็จพระยุพราชยึดหลักตามผังแม่บทเพื่อสุขภาวะ รพ.สมเด็จพระยุพราชก็จะสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการบริหารกายภาพโรงพยาบาล

“ประเด็นสำคัญที่คาดว่าจะเกิดหลังจากสถานการณ์โควิด-19 มี 2 เรื่อง คือ ความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) และ ความมั่นคงทางด้านสุขภาพ (Health security) ที่ต้องฝากทั้งทางด้านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกระทรวงสาธารณสุขช่วยดูแลต่อไป ในการพัฒนาผังแม่บทเพื่อสุขภาวะโรงพยาบาลครั้งนี้ ทางคณะทำงานก็ได้นำเสนอตัวอย่างในส่วนนี้ไว้ด้วยแล้ว” ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าว

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ประธานคณะทำงาน การพัฒนาห้องสมุด อาคารเฉลิมพระเกียรติ และสิ่งแวดล้อมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กล่าวว่า ความสำคัญของการดำเนินงานพัฒนาผังแม่บทเพื่อสุขภาวะ รพ.สมเด็จพระยุพราช เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ จึงได้ร่วมมือพัฒนาผังแม่บทของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง ระหว่างปี พ.ศ. 2562-2564  จนบรรลุเจตนารมณ์ที่ได้ประกาศไว้ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฯ ผังแม่บทเพื่อสุขภาวะนี้ จะช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์ทั้งสี่ด้าน คือ ยุทธศาสตร์การสร้างชุมชนรอบโรงพยาบาลมีสุขภาวะ ผู้รับบริการมีความสุข บุคลากรมีความสุข และโรงพยาบาลแห่งความสุข เพื่อให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง บรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ในปี พ.ศ. 2569 โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเป็น “โรงพยาบาลต้นแบบแห่งความสุข”

ผศ.ดร.ปารเมศ กำแหงฤทธิรงค์ กล่าวว่า ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มอบหมายให้ร่วมพิธีส่งมอบผังแม่บทเพื่อสุขภาวะ รพ.สมเด็จพระยุพราช ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินงานโดยกลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อพัฒนาผังแม่บท รพ.สมเด็จพระยุพราช สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้เฉพาะถิ่นที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้คนและชุมชน ผ่านระบบบริการสุขภาพ ภายใต้หลักคิดทางสถาปัตยกรรมและความเป็นอยู่ที่ดี พัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ขับเคลื่อนงานโดยภาคีสถาปนิก เครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาค ตามภูมิศาสตร์และที่ตั้งของโรงพยาบาล เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สนับสนุน เสริมพลัง และสามารถนำข้อเสนอและผลผลิตจากโครงการวิจัยฯนี้ไปสู่การปฏิบัติ

พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นความสำคัญของการพัฒนาให้เกิด “ต้นแบบพื้นที่สุขภาวะในโรงพยาบาล” ที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ดำเนิน โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะ รพ.สมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ  เพื่อให้ได้ต้นแบบของผังแม่บทและแผนพัฒนาเชิงกายภาพที่แสดงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในโรงพยาบาลขนาดต่างๆจากกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน สอดคล้องกับการใช้งานจริงของบุคลากรในโรงพยาบาลและผู้มาใช้บริการ มีการปรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และคำนึงถึงปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาวะของผู้คนทุกกลุ่ม รวมถึงสอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสุขภาพ (Service plan) พร้อมส่งมอบให้กองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาและปรับใช้กับการขยายตัวในอนาคตของโรงพยาบาลในพื้นที่อื่นต่อไป