รมช.สาธิต-สถาบันยุวทัศน์-สสส.-อาชีวศึกษา จ.ระยอง ลงนาม MOU ขับเคลื่อนสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ-ความปลอดภัยทางถนน
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ อ.เมือง จ.ระยอง สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย วิทยาลัยเทคนิคระยอง วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด วิทยาลัยสารพัดช่างระยอง และวิทยาลัยการอาชีพแกลง จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนนักศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดระยองเพื่อสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพและการขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยทางถนนสำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษา
โดย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1 กล่าวว่า ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ โดยกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ระบุว่า ปี 2562 จ.ระยองมีผู้ป่วยนอก (OPD) จากอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 20,793 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 10-19 ปี จำนวน 4,424 คน คิดเป็นร้อยละ 21.27% ขณะที่เป็นผู้ป่วยในที่ต้องรักษาพยาบาล (IPD) จำนวน 5,096 คน เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 10-19 ปี สูงถึง 811 คน และมีเด็กเยาวชนเสียชีวิต 63 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 14.35 จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุ ในกลุ่มเด็กและเยาวชนสร้างผลกระทบ เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านจิตใจ การสูญเสียโอกาสในชีวิต การสูญเสียกำลังสำคัญของครอบครัวในการประกอบอาชีพ และร้ายแรงที่สุดคือการสูญเสียกำลังคนในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
“รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งและขอขอบคุณสถาบันยุวทัศน์ฯ และ สสส. รวมไปถึงวิทยาลัยอาชีวศึกษาใน จ.ระยอง ที่ร่วมผลักดันให้เกิดกิจกรรมและความร่วมมือในครั้งนี้ โดยคัดเลือกให้ จ.ระยอง เป็นพื้นที่นำร่องสำหรับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษาอาชีวศึกษา ซึ่งมีการใช้รถจักรยานยนต์เป็นจำนวนมาก นับเป็นกลไกสำคัญของการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ที่เริ่มต้นตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับท้องถิ่น ระดับสถานศึกษา รวมไปถึงแกนนำนักศึกษาที่เข้ามามีบทบาท การทำงานจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด หากทุกหน่วยงานร่วม มุ่งมั่นตั้งใจ เรียนรู้ปัญหา และหาแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในด้านสุขภาวะที่ดีของคนรุ่นใหม่และประชาชนของ จ.ระยองต่อไป” ดร.สาธิต กล่าว
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากระบบบูรณาการการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน โดยกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ในปี 2554-2562 พบว่าแนวโน้มการเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่ม เด็กและเยาวชน อายุ 15-19 ปี เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และร้อยละ 74 ของผู้เสียชีวิต คือ ผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ การขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน ร่วมกับภาคีเครือข่ายการศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้มีความสามารถ และทักษะในการเข้าถึงข้อมูล และนำไปวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงความปลอดภัยทางถนน พร้อมทั้งสร้างกลไกเพื่อป้องกันและลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนของนักศึกษาในพื้นที่ จ.ระยอง เช่น การดื่มไม่ขับ การสวมหมวกนิรภัยก่อนขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ลดความเร็ว และพร้อมเป็นแกนนำเพื่อขยายองค์ความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาวะเหล่านี้ให้กับชุมชนของตนเอง
“แนวทางการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน สสส. และภาคีเครือข่าย มีเป้าหมายสำคัญคือ 1.ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ไม่เกิน 12 คนต่อแสนประชากร ภายในปี 2570 2.ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในกลุ่ม “ผู้ใช้รถจักรยานยนต์” 3.ลดพฤติกรรมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และ 4.เน้นแก้ไขในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และในกลุ่มเสี่ยงสำคัญโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ที่พบจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยการประสานพลังเครือข่ายทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งเชิงโครงสร้าง ระบบและกลไก ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนนให้เกิดขึ้น เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้สำเร็จ เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเห็นคนบาดเจ็บบนท้องถนนอีก และไม่อยากให้มีใครต้องเป็นผู้พิการรายต่อไป” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน สถาบันยุวทัศน์ฯ โดยโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง สนับสนุนโดย สสส. ได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพนักศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยทางถนนใน จ.ระยอง ซึ่งมีแกนนำนักศึกษาและคณะผู้บริหารจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 60 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเป้าลดอัตราการได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของเด็กและเยาวชนใน จ.ระยอง และสร้างกลไกหรือมาตรการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ เริ่มตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับท้องถิ่น ระดับสถานศึกษา การมีส่วนร่วมของแกนนำนักศึกษา ภายใต้แนวคิด “เด็กคิด เด็กทำ ผู้ใหญ่หนุน” เพื่อสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพและความรู้ด้านอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ