ในประเทศ

เครือข่ายภาคประชาชน บุกสธ. ยื่น4ข้อเรียกร้องดูแลหญิงตั้งครรภ์ ให้พ้นโควิด

วันนี้(27สิงหาคม) เวลา10.30น.ที่กระทรวงสาธารณสุข  เครือข่ายภาคประชาชน นำโดยนางสาวศรีไพร  นนทรีย์  แกนนำกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง  นางสาวจรีย์  ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย  มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และนายชูวิทย์  จันทรส  เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข  ผ่านทางนายแพทย์โสภณ  เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้มีมาตรการเร่งด่วน แก้ไขปัญหาหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด-19 ทั้งนี้เครือข่ายฯได้มีการแต่งกายด้วยชุดคลุมท้อง แสดงเชิงสัญลักษณ์ “ขอวัคซีนให้คนท้อง-อย่าเทอย่าทิ้งเรา” อีกทั้งได้เปิดคลิปเสียงหญิงตั้งครรภ์หลังติดโควิด-19 กำลังจะคลอด แต่ถูกโรงพยาบาลปฏิเสธการทำคลอด ทำให้ต้องใช้เวลาประสานหาโรงพยาบาลอยู่บนท้องถนนนานกว่า 2 ชั่วโมง

นางสาวศรีไพร  กล่าวว่า  นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อแรงงานจำนวนมาก บางคนรายได้ลดลง บางคนต้องตกงานสูญเสียรายได้ ซ้ำร้ายบางคนต้องสูญเสียคนในครอบครัว แรงงานจำนวนมากต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างที่มีคำประกาศปิดกิจการชั่วคราว โดยไม่ได้รับค่าชดเชย หลายคนตัดสินใจทำร้ายตัวเองดังที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ  ยกตัวอย่างพื้นที่ปทุมธานีที่มีผู้ติดเชื้อ เสียชีวิตจำนวนมาก แต่สถานประกอบการบางแห่งกลับไม่มีมาตรการตรวจเชิงรุก หรือตรวจเจอก็ไม่มีเตียงรักษา และจากการสำรวจยังพบจำนวนหนึ่งไม่ได้เข้าระบบสาธารณสุข ทำให้ไม่ได้รับยา ไม่ได้รับการเอ็กซเรย์ปอด

“ทั้งนี้บริษัทบางแห่งมีมาตรการให้พนักงานกักตัว แต่ให้กักตัวเพียง7วันเท่านั้น ถือว่าไม่เป็นไปตามมาตรการสาธารณสุข มีการเปิดบริษัทฯ โดยให้คนงานเข้า-ออกประตูด้านหลัง โดยไม่มีหน่วยงานรัฐเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่น่าเป็นห่วงคือหญิงตั้งครรภ์ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ยังไม่ได้รับการปกป้องเท่าที่ควร ไม่มีการแยกออกจากพื้นที่เสี่ยง ยังต้องเจอกับคนจำนวนมาก ทำให้มีหญิงตั้งครรภ์จำนวนไม่น้อยต้องติดโควิด และประสบปัญหาถูกรพ.ปฏิเสธการทำคลอด โดยระบุว่ารพ.ไม่มีความพร้อมทำคลอดกรณีที่มีการติดโควิดด้วย ทำให้ผู้ป่วยและญาติต้องหารพ.ทำคลอดกว่า4แห่ง บางรายที่ติดโควิดทำคลอดที่รพ.เอกชนก็ถูกเรียกเก็บเงินกว่า150,000 บาท นับเป็นการซ้ำเติมแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด–19 อย่างมาก หลายคนเลือกใช้วิธีการดูแลตัวเอง บางรายดีขึ้น แต่บางรายอาการทรุด ถึงเสียชีวิต มีกรณีหนึ่งภรรยาเสียชีวิตระหว่างตั้งครรภ์  เคสนี้ใช้เวลาหลายวันกว่าจะได้รับการตรวจรักษา และต้องคลอดก่อนกำหนด รักษาอยู่หลายวันอาการไม่ดีขึ้น  ปอดเสียหายรุนแรง สุดท้ายภรรยาก็เสียชีวิต ส่วนลูกที่เพิ่งคลอดไม่ได้ติดเชื้อจากแม่  ซึ่งทราบว่าพ่อเด็กต้องลาออกจากงานพาลูกกลับไปเลี้ยงที่ต่างจังหวัด เป็นเคสที่สะเทือนใจกันมาก”  นางสาวศรีไพร  กล่าว  

นางสาวจรีย์  กล่าวว่า เครือข่ายฯ มีข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ 1.ขอให้กำกับดูแลโรงพยาบาลที่รับฝากครรภ์ ไม่ควรปฏิเสธการทำคลอด-รักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด-19   หากเกินศักยภาพที่โรงพยาบาลจะดูแลรักษาได้ ต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแล ประสานต่อ ไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยและครอบครัวไปหาสถานพยาบาลเอง และควรเร่งประชาสัมพันธ์การปฏิบัติตัว การดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ถูกต้องให้กว้างขวาง 2.เร่งฉีดวัคซีนให้หญิงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปให้ครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากพบว่าปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนไม่ถึง 3% ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตในหญิงตั้งครรภ์สูงถึง 2.5% 

3. กรณีหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด-19 เสียชีวิต หรือลูกเสียชีวิต หรือเสียชีวิตทั้งแม่ทั้งลูก โรงพยาบาลต้องจัดให้นักสังคมสังเคราะห์ประเมิน และวิเคราะห์รายกรณี เพื่อประสานการช่วยเหลือ เยียวยาสภาพจิตใจครอบครัว ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น และ 4. กระทรวงสาธารณสุขต้องเชื่อมต่อกับโรงงานต่างๆ ให้บริษัทฯ ตรวจคัดกรองเชิงรุกให้กับคนงานต่อเนื่องเพื่อแยกผู้ติดเชื้อฯ ออกมารักษาตามระบบป้องกันการแพร่กระจายสู่ผู้อื่น สนับสนุนให้แต่ละสถานประกอบการมี Factory isolation ที่มีมาตรฐาน โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาลในการดูแลผู้ติดเชื้อ มีระบบการประสานส่งต่อคนงานที่มีอาการเริ่มรุนแรง รวมถึงเชื่อมโยงการทำ Home  isolation ที่ถูกต้อง

ขณะที่ นพ.โสภณ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า กระทรวงสาธารณสุขรับข้อเรียกร้องและเห็นด้วยทั้ง 4 ข้อ เพราะมีการประชุมก็ยกปัญหาการดูแลหญิงตั้งครรภ์ในช่วงสถานการณ์โควิด เพราะมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าปกติถึง 2.5 เท่า และไม่ใช่แค่ชีวิตเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ จึงต้องช่วยกันดูแลดังนั้นหากป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ฝากท้องที่ไหนต้องคลอดที่นั่น หากเกินศักยภาพจะต้องดูแล ส่งต่อ สำหรับการรักษาจะใช้ยาเรมดิซีเวีย ซึ่งจะมีการกำชับให้มากขึ้นเพราะไม่อยากให้เกิดการสูญเสีย ทั้งนี้ ดีที่สุดคือการป้องกันโดยการฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี่หญิงตั้งครรภ์สามารถฉีดได้ที่คลีนิคต่างๆ ด้วย ส่วนเรื่องการทำงานนั้นได้มีการทำบับเบิลแอนด์ซีล อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมอนามัยได้จัดแนวทางการทำงานของหญิงตั้งครรภ์ เสนอต่อที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ศปก.สธ.) พิจารณาออกข้อบังคับให้หญิงตั้งครรภ์ทำงานที่บ้าน (work from home) 100% จากเดิมที่เป็นเพียงมาตรการขอความร่วมมือเท่านั้น

ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ตามกฎหมายกำหนดให้โรคโควิด -19 เป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉิน สถานพยาบาลต้องให้การรักษา ปฏิเสธไม่ได้ หากเกินศักยภาพต้องดูแลประสานส่งต่อ ทั้งนี้หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังห้ามเรียกเก็บเงินค่ารักษาด้วย จากนี้จะมีการกำชับสถานพยาบาลเรื่องนี้มากขึ้น