การศึกษา-วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีสังคม-CSR

CPAC ชูเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งนวัตกรรมก่อสร้างหนุนวงการแพทย์ ช่วยการตรวจ-สนับสนุนการรักษาครบวงจรแก้โจทย์วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่

CPAC ผู้นำด้านโซลูชันการก่อสร้าง นำกลยุทธ์ Green Construction ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล CPAC BIM สร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ช่วยการตรวจและสนับสนับสนุนการรักษาครบวงจร ลดความเสี่ยงบุคคลากรทางการแพทย์ เน้นความปลอดภัย ก่อสร้างรวดเร็ว และควบคุมงบประมาณได้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาโควิด-19 ระลอกใหม่ได้ทันต่อสถานการณ์

นายชนะ ภูมี Vice President – Cement and Construction Solution Business และกรรมการบริหาร CPAC ในธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยทวีความรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ขณะเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานสาธารณสุข กำลังเพิ่มความเสี่ยงในทุกขณะ CPAC ผู้นำด้านโซลูชันการก่อสร้างจึงนำกลยุทธ์ Green Construction และเทคโนโลยีดิจิทัล CPAC BIM สร้างนวัตกรรมช่วยบุคลากรทางการแพทย์รองรับสถานการณ์โควิด โดยคำนึงถึงหัวใจสำคัญเกี่ยวกับ “คุ้มค่า-ลดสูญเสีย” ตั้งแต่การออกแบบการก่อสร้าง เน้นความปลอดภัย การก่อสร้างรวดเร็ว และควบคุมงบประมาณได้ ซึ่งแบ่งกลุ่มนวัตกรรมออกเป็น 2 นวัตกรรม คือ นวัตกรรมการช่วยตรวจและนวัตกรรมช่วยสนับสนุนการรักษา

สำหรับนวัตกรรมการช่วยตรวจ CPAC ให้บริการสร้าง ห้องตรวจเชื้อความดันลบ (Negative Pressure SWAB Cabinet) และ ห้องตรวจเชื้อความดันบวก (Positive Pressure SWAB Cabinet) เพื่อใช้ทำการคัดกรองและตรวจวินิจฉัยโรคประจำจุด ห้องตรวจได้มาตรฐานปลอดเชื้อ เคลื่อนย้ายโครงสร้างและติดตั้งได้ง่าย ส่วนที่สอง ต่อยอดจากห้องตรวจคัดกรองเดิมด้วยบริการสร้างห้องตรวจเชื้อความดันลบเคลื่อนที่ (Negative Pressure SWAB Cabinet – Mobile) และห้องตรวจเชื้อความดันบวกเคลื่อนที่ (Positive Pressure SWAB Cabinet – Mobile) โดยผลิตส่งมอบแก่โรงพยาบาลในหลายพื้นที่เสี่ยง เช่น โรงพยาบาลสมุทรสาคร, โรงพยาบาลคลองท่อม กระบี่, โรงพยาบาลวิชระภูเก็ต, โรงพยาบาลพบพระ จ.ตาก, โรงพยาบาลพระราม 9 เป็นต้น และสุดท้าย คลินิกแยกโรคติดเชื้อแบบสำเร็จรูปพร้อมติดตั้ง (Acute Respiration Infection Outdoor Clinic, ARI Outdoor Clinic) ภายในคลินิกมีการแบ่งพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วนทั้งการคัดกรอง ตรวจเชื้อ และเก็บเชื้อ ซึ่งแยกเส้นทางระหว่างแพทย์ กับผู้ป่วยออกจากกัน โดยผลิตส่งมอบแล้วในโรงพยาบาลระนอง โรงพยาบาลสงฆ์และโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ ศิลปาคม จ.อุดรธานี

ขณะที่นวัตกรรมช่วยสนับสนุนการรักษา CPAC ได้ให้บริการสร้าง ห้องแยกโรคติดเชื้อความดันลบ (Airborne Infectious Isolation Room, AIIR) แบบสำเร็จรูปแบบพร้อมติดตั้ง โดยหลักการทำงานจะใช้เทคโนโลยีความดันลบเพื่อควบคุมไม่ให้เชื้อโรคภายนอกเข้ามาให้ห้อง และมีระบบฆ่าเชื้อโรคก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก ซึ่งมี การแบ่งโซนอย่างชัดเจน ทำการส่งมอบเพื่อเปิดใช้บริการในโรงพยาบาลวชิรพยาบาล

นอกจากนี้ CPAC ยังออกแบบและบริการสร้าง โรงพยาบาลสนาม (Field Hospital) และ ห้องน้ำสำเร็จรูปพร้อมติดตั้ง (Unit Restroom) ที่สามารถออกแบบและก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว รองรับผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก โดยแยกส่วนการใช้งานสำหรับบุคลากรแพทย์และผู้ป่วยอย่างชัดเจน ปัจจุบันได้ทำการผลิตเพื่อใช้งานจริงแล้วที่โรงพยาบาลสนาม สมุทรสาคร ศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10 ในช่วงที่เกิดการระบาดเชื้อไวรัสโควิดในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร

“ต้องยอมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยรอบนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะติดเชื้อกันรวดเร็วขึ้น เราจึงคิดโจทย์จากการป้องกันบุคลากรแพทย์ให้ปลอดภัย CPAC จึงนำความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้าง ที่มีอยู่พัฒนาเป็นนวัตกรรมช่วยการตรวจและสนับสนุนการรักษาในหลากหลายรูปแบบ บวกกับเทคโนโลยีดิจิทัล CPAC BIM ช่วยให้เห็นองค์รวมก่อนการผลิต เพิ่มความรวดเร็ว ลดความผิดพลาด ตอบโจทย์การสร้างนวัตกรรม ให้ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดได้” นายชนะ กล่าวเสริม

ทั้งนี้ CPAC ได้ผลิตนวัตกรรมที่ช่วยเหลือการตรวจและสนับสนุนการรักษา โดยส่งมอบในหลายพื้นที่เพื่อช่วยรองรับสถานการณ์โควิด-19 นับเป็นการให้ความร่วมมือแก่ภาครัฐในการนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญขององค์กรเอกชน ส่งต่อความช่วยเหลือเพื่อป้องกันบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้เกิดความปลอดภัยอย่างสูงสุด

สำหรับโรงพยาบาลหรือหน่วยงานสาธารณสุขที่ต้องการคำแนะนำ-ปรึกษา หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ CPAC Contact Center โทร. 02-555-5555 หรือ CPAC Solution Center ทั้ง 23 สาขาทั่วประเทศ