ในประเทศ

สสส. ร่วมกับมูลนิธิโพธิยาลัย จัดเวทีเสวนาถอดบทเรียนการทำงานของเครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก

สสส. ร่วมกับมูลนิธิโพธิยาลัย จัดเวทีเสวนาถอดบทเรียนการทำงานของเครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก ขับเคลื่อนให้วัดและโรงเรียนปริยัติธรรมเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดย พระสงฆ์ สามเณร ไม่สูบ ญาติโยม ไม่ถวาย เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการมีสุขภาวะที่ดี “วัดสร้างสุข พระสุขภาพดี บนวิถีธรรม สู่สุขภาวะชุมชน”

วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ โรงแรมฮอลิเดย์ การ์เด้นท์ เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิโพธาลัย จัดเวทีเสวนา “แลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงานวัดปลอดบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงและการสร้างเสริมสุขภาวะวัดและชุมชน โดยเครือข่ายพระคิลานุปัฏฐากระหว่างภูมิภาค” ภายใต้โครงการวัดปลอดบุหรี่ สร้างชีวีด้วยหลักธรรม นำสู่สุขภาวะชุมชน โดยมีเป้าหมายในการทำให้วัดและโรงเรียนปริยัติธรรมปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ, ผศ.ดร. อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวัดปลอดบุหรี่ฯ กล่าวว่า การรณรงค์ให้พระสงฆ์ สามเณร เลิกบุหรี่ โดยตั้งคำถามว่าการสูบบุหรี่นั้นผิดศีล 5 หรือไม่ และจากการทำงานวิจัยเกี่ยวกับการวิเคราะห์หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งยืนยันว่า “ผิด” แต่หลายท่านยังมีความเห็นที่ต่าง โดยดูที่ “เจตนา” การมีศีลคือ เจตนาว่าทำแล้วร่างกายสุขภาพดีขึ้น แต่จะผิดถ้าเจตนานั้นทำแล้วเกิดการเบียดเบียนตนเอง หรือผู้อื่น เป็นการทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายสุขภาพร่างกายตนเอง และนอกจากศีล 5 จะด่างพ้อย ยังมีเบญจธรรม คือ เมตตา กรุณา ซึ่งการสูบบุหรี่ ถือเป็นความปรารถนาดีหรือไม่ ก็จะเห็นชัดว่าการสูบบุหรี่ผิดหรือไม่ผิด

“แม้ว่าการสูบบุหรี่ ไม่มีบัญญัติในพระธรรมวินัย แต่พระธรรมวินัยนั้นพระพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นเพื่อการแก้ปัญหา ไปสู่การเจริญสติ และการสุดพ้น อะไรที่จะเป็นอุปสรรคต่อการหลุดพ้น พระพุทธเจ้าก็จะบัญญัติเป็นพระธรรมวินัย ในสมัยพุทธกาลอาจจะยังไม่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ชัดว่าการสูบบุหรี่มีโทษต่อร่างกายซึ่งการเข้ามาบวช เป็นแนวทางหนึ่งที่จะข่มใจ เพื่อที่จะลดละเรื่องนี้ได้ ถ้าเลิกได้จริง นับว่าเป็นอานิสงส์แล้ว คิดว่าพระควรออกมาพูดเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อที่จะให้ญาติโยมได้รับฟัง เพราะนี่คือเรื่องสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม คนที่มาบวชก็คือคนในชุมชน อาจจะต้องคุยกับญาติโยม ในการหากิจกรรม ในการขับเคลื่อนทำให้คนรู้เลยว่า วัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ ใครเข้ามาห้ามสูบ” พระวิสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตั้งแต่คณะแพทยศาสตร์ได้สร้างโรงพยาบาลสงฆ์  มีพระเข้ามารักษาเกิน 10,000 รูปต่อปี จากเดิม 3,000 รูปต่อปี ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ขณะที่การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุโรคของปอด หัวใจและหลอดเลือด พระสงฆ์ ก็เหมือนกับฆราวาสมารับบริการมากขึ้นอุบัติการณ์ของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก มองว่าการป้องกันโรคย่อมดีกว่าการรักษา โดยการลดปัจจัยเสี่ยง 1. ถ้างดสูบบุหรี่ได้ ก็สามารถป้องกันได้หลายโรค และ 2 .อาหาร ที่รับถวายจากญาติโยม ต้องรณรงค์ให้จัดอาหารไม่หวาน มันเค็ม เพื่อรักษาสุขภาพ

“นอกจากบุหรี่ธรรมดา ที่น่ากังวลคือ บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีสารนิโคติน สารเสพติด ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด มีผลต่อเส้นเลือด กระทบต่อสุขภาพเหมือนกัน เดิมคนมักคิดว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีผล แต่งานวิจัยระบุชัดแล้วว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา และยังมีโอกาสติดสารเสพติดอื่น ๆ ที่รุนแรงขึ้น เราจำเป็นต่อให้ความรู้แก่พระสงฆ์ เพราะพระจะได้เทศน์บอกญาติโยม ให้ตระหนักถึงภัยของบุหรี่ ทั้งบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ในพื้นที่โรงพยาบาล วัด โรงเรียน เป็นที่ปลอดบุหรี่ 100% และจริง ๆ แล้วก็ห้ามจัดให้มีพื้นที่สูบบุหรี่ ทำให้เกิดความยุ่งยากในการสูบมากขึ้น ก็เอื้อให้คนเลิกบุหรี่ได้ และองค์กรที่จะรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ก็ควรเป็นต้นด้วยการไม่สูบบุหรี่เองด้วย” ศ.นพ.บรรณกิจ กล่าว

นายศรีสุวรรณ ควรขจร รองประธานบริหารแผน คณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ปี 2564 ประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.4 อายุเฉลี่ยที่สูบจนเป็นนิสัยปกติในภาพรวมของประเทศคือ 19.7 ปี โดยอัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี อยู่ที่ร้อยละ12.7 ซึ่งลดลงจากปี 2560 (ร้อยละ15.4) แม้ว่าการสูบบุหรี่เป็นประจำมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย แต่กลับพบว่าเริ่มมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและวัยแรงงาน โดยพบว่าในจำนวนประชาชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 78,742 คน เป็นเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี มากที่สุด ถึงร้อยละ 30.5 ขณะที่ผลการสำรวจสถานการณ์บริโภคยาสูบของสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรมปี 2565 พบว่า สามเณรเคยทดลองสูบบุหรี่ซิกาแรตร้อยละ 23.9 และเคยทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 32.8

“สสส. ได้ให้การสนับสนุนมูลนิธิโพธิยาลัยใน 2 ด้าน ได้แก่ 1. การขับเคลื่อนวัดและศาสนสถานให้เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่และสุราจำนวน 19 จังหวัด และ 2. การพัฒนาให้โรงเรียนปริยัติธรรมเป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีแก่สามเณร จำนวน 42 แห่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและขยายพื้นที่วัดและโรงเรียนปริยัติธรรมเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่และเป็นศูนย์กลางในการสร้างเสริมสุขภาวะ และพัฒนากลไกความร่วมมือระดับภาคต่างๆ นำไปสู่การเป็นวัดโรงเรียนปลอดบุหรี่ 100% และสร้างแกนนำพระสงฆ์เพื่อช่วยให้ผู้ที่สูบสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ ผ่านการส่งต่อสายเลิกบุหรี่ 1600” นายศรีสุวรรณ กล่าว

โดยผลการดำเนินงานโครงการในการช่วยให้พระสงฆ์ สามเณร และพุทธศาสนิกชน ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่โดยใช้ฐานวัดในการชวนคนเลิกบุหรี่ ผ่านใบอธิฐานจิตพบว่ามีผู้เข้าร่วมลงนามอธิฐานจิตงดเหล้าบุหรี่ จำนวน 13,227 คน โดยกระจายไปตามวัดต่างๆ จำนวน 3,000 แห่ง พร้อมกันนี้ได้มีพระสงฆ์จำนวน 147 รูป  ที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ โดยเข้าร่วมการอบรมพระคิลานุปัฏฐากและใช้กระบวนการสงฆ์ พระวินัยอย่างเข้มข้นในเรื่องการห้ามสูบบุหรี่ เช่น มีการเฝ้าระวังจากญาติโยมและพระสงฆ์แกนนำ ในการที่จะไม่ให้มีการสูบบุหรี่ภายในวัด