December 5, 2024
Latest:
ในประเทศ

“สำนักงาน กกพ.” หนุน กทม. ติดตั้ง “โซลาร์เซลล์” ให้โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการเเพทย์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงาน กกพ. มอบเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ากว่า 81.5 ล้านบาท ติดตั้ง “โซลาร์เซลล์”  กว่า 2.795 เมกะวัตต์ให้กับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จำนวน 10 แห่ง วางเป้าลดค่าไฟฟ้ากว่าปีละ 14 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุมพิทยรักษ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างสำนักงาน กกพ. โดยนายคมกฤช  ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โดยนางเลิศลักษณ์  ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ซึ่งมีนายนรินทร์ โอภามุรธาวงศ์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พร้อมด้วย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามฯ

ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กกพ. และกรุงเทพมหานครในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับโรงพยาบาล ในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาล โดยในระยะที่ 1 สำนักงาน กกพ.ได้สนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร  จำนวน 10 โรงพยาบาล ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2.795 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามนโยบายคาร์บอนคุมได้ กทม. ปลอดคาร์บอน (Bangkok Metropolitan Administration: BMA Net Zero)  ได้กว่า 2,200 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และคาดว่าจะลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครได้ปีละ 14 ล้านบาท 

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานในพิธีกล่าวว่า กรุงเทพมหานครเล็งเห็นถึงความสำคัญจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประชาชน ในปี พ.ศ. 2561 กรุงเทพมหานครได้มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 43.71 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี จากกิจกรรมต่างๆได้แก่ การใช้พลังงานในอาคาร ภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม การจัดการขยะและบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

ซึ่งโรงพยาบาลเป็นหนึ่งในประเภทอาคารที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูง และใช้ไฟฟ้าต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อการบริการด้านสาธารณสุขให้กับประชาชน การดำเนินงานร่วมกันในครั้งนี้จะสนับสนุนการขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดความเสี่ยง ต้นทุน และความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติ และสอดคล้องกับแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  พ.ศ. 2564 – 2573 โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 19 และได้กำหนดวิสัยทัศน์ ที่จะมุ่งไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593

นายนรินทร์ โอภามุรธาวงศ์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมานับเป็นช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่สำคัญในการดำเนินการตามแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 ซึ่งประเทศไทยจะต้องเตรียมการรองรับ การปรับตัว รวมถึงมาตรการระหว่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นมาตรการหนึ่งตามแผนพัฒนาการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งกำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 8,740 เมกะวัตต์ ในปี พ.ศ. 2580 ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กกพ. และกรุงเทพมหานคร ในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จึงเป็นการดำเนินการที่มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์