ในประเทศ

“วุฒิสภา-สสส.” จับ ขรก.อบรมคอร์สกู้ชีพ CPR ติวเข้มปฐมพยาบาลเบื้องต้น

“วุฒิสภา-สสส.” จับ ขรก.อบรมคอร์สกู้ชีพ CPR ติวเข้มปฐมพยาบาลเบื้องต้น พร้อมเปิดสมัยประชุมสภา 1 พ.ย.65 นี้ หลังพบสถิติคนไทยป่วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดเสียชีวิตเฉียบพลันเฉลี่ย 4 ราย / ชม.เป็นห่วง ส.ว. ส.ส. ขรก.ทำงานหนักเสี่ยงวูบหมดสติฉลับพลัน ชี้ช่วงเวลา 4 นาทีทอง หากกู้ชีพได้ทันรอดตายแน่นอน

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 นางสาวนภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา เป็นประธานเปิดกิจกรรม “การฝึกอบรมปฐมพยาบาลเบื้องต้น การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานและการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (CPR & AED)” ประจำปี 2565 ผู้เข้าอบรม 2 รุ่น 70 คน ณ ห้องประชุม 402-403 ชั้น 4 อาคารวุฒิสภา จัดโดย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยนางนวนันทน์ เนติธนากูล ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์และผลที่ได้รับจากการจัดกิจกรรม โดยมีทีมวิทยากร จากโรงพยาบาลกรุงเทพ บรรยายให้ความรู้และการฝึกปฏิบัติ CPR และการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED)

นางนวนันทน์ เนติธนากูล ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ในนามประธานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมและความผูกพันของบุคลากรสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และคณะผู้จัดกิจกรรม “การฝึกอบรม

ปฐมพยาบาลเบื้องต้นการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน และการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (CPR & AED)” ว่าจากสถานการณ์โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดในประเทศไทยมีสถิติผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี และมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากขึ้นเฉลี่ยชั่วโมงละ 4 ราย มีผู้ป่วยหลายราย เกิดอาการวูบหมดสติโดยไม่มีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนส่งตัวไปยังโรงพยาบาลในเวลาที่รวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจต้องเสียชีวิตลง ซึ่งเมื่อเกิดอาการของโรคหากมีผู้ช่วยฟื้นคืนชีพ

ก่อนนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เพื่อทำการรักษาจากแพทย์ ก็จะเป็นวิธีการหนึ่งในการช่วยไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิตบาดเจ็บหรือพิการ ซึ่งในบริเวณรัฐสภา มีสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการ ข้าราชการรัฐสภาสามัญ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และประชาชนที่มาติดต่อจำนวนมาก โดยที่เคยมีผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดหัวใจมีอาการหมดสติ แต่สามารถช่วยปฐมพยาบาลและฟื้นคืนชีพก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลให้แพทย์ทำการรักษาได้ทัน ซึ่งโครงการรัฐสภาร่วมใจรวมพลังสร้างสุข สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยโครงการสื่อสารนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ได้ตระหนักและเล็งเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ให้กับบุคลากรของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้และความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ทราบขั้นตอนในการปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานได้อย่างถูกต้อง สามารถใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED) รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD’s)

นางสาวนภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่ากิจกรรมดังกล่าว นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม เพราะนอกจากจะได้ความรู้สามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติราชการตามหน้าที่และภารกิจของท่าน ยังจะได้ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันความเสี่ยงในภาวะวิกฤต หรือเหตุฉุกเฉิน และเพื่อลดความเสี่ยงในภาวะวิกฤต จากการตายของสมองหรือหัวใจล้มเหลวอย่างเฉียบพลันของบุคลากรในสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา หรือเพื่อนร่วมงานที่อาจเกิดขึ้นโดยสามารถช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานและสามารถใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ที่ติดตั้งอยู่ในบริเวณอาคารวุฒิสภาอีกด้วย

ทั้งนี้ ในปัจจุบันสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่เกิดจาก โรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจและหลอดเลือด โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และอุบัติเหตุ จมน้ำ ผู้ป่วยหรือผู้ได้รับบาดเจ็บเหล่านี้บางรายอาจมีภาวะการหยุดหายใจกะทันหัน ถ้าปล่อยไว้นานเกิน 4 นาที แม้จะช่วยให้ฟื้นคืนชีพกลับมาได้ ก็จะเกิดสภาวะการตายของสมองอย่างถาวร การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน เป็นวิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังจะเสียชีวิตให้สามารถฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ หรือที่เรียกว่า CPR; Cardiopulmonary Resuscitation ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัยที่ได้ผลแน่นอนและว่าหากผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือทันทีหลังจากหัวใจหยุดเต้นภายใน 4 นาที จะทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตมากกว่า 4 เท่า ดังนั้นการได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างทันท่วงทีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและมีการส่งต่อผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บไปยังแพทย์หรือสถานพยาบาลอย่างเหมาะสมรวดเร็วและถูกวิธีจะทำให้ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บมีโอกาสรอดชีวิตและกลับคืนมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้

ทั้งนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจําปีครั้งที่สอง ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565.โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ