สาธารณสุข

สสส.จับมือ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม พัฒนานวัตกรรมวัดลิ้นด้านชาออนไลน์

เทศกาลกินเจ 2565 สสส. จับมือ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม พัฒนานวัตกรรมวัดลิ้นด้านชาออนไลน์ มุ่งปรับพฤติกรรมลดเค็ม ชวนจัดจานอาหารสุขภาพด้วยรหัส 2:1:1 ใช้รหัส 6:6:1 ปรุงรส แนะ สูตร 4 เลือก 4 เลี่ยง ปลอดภัย ห่างไกลโรค NCDs

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า เทศกาลกินเจ เป็นเทศกาลแห่งการสั่งสมบุญกุศล ละเว้นเนื้อสัตว์ เพิ่มการกินผัก ผลไม้ ถือเป็นโอกาสดีในการดูแลสุขภาพ แต่เนื่องจากอาหารเจส่วนมากมีรสหวาน มัน โดยเฉพาะรสชาติที่เค็มจัด องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำแนะนำว่าปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมต่อร่างกายคือ 2,000 มิลลิกรัมหรือ 5 กรัมต่อวัน ข้อมูลปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียม ในปี 2564 พบคนไทยบริโภคเฉลี่ย 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน ที่น่ากังวลคือเยาวชนรุ่นใหม่ อายุ 17-24 ปี บริโภคโซเดียมเกินถึง 3,194 มิลลิกรัมต่อวัน ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของโรค NCDs ความดันโลหิตสูง ไต หัวใจและหลอดเลือด ถึงขั้นเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

“กินเจวิถีใหม่ ห่างไกลโรค NCDs ควรเลือกรับประทานอาหารให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน 5 หมู่ และเลือกรับประทานอาหารเจด้วยรหัสสุขภาพ 2:1:1 คือ ในหนึ่งจานควรกินผัก 2 ส่วน ข้าวแป้งไม่ขัดสี ข้าวกล้อง 1 ส่วน โปรตีนจากพืช 1 ส่วน และรหัส 6:6:1 กำหนดเครื่องปรุงในการประกอบอาหาร คือ น้ำมัน 6 ช้อนชาต่อวัน น้ำตาล 6 ช้อนชาต่อวัน เกลือ 1 ช้อนชาต่อวัน ใส่ใจให้ความสำคัญกับสุขอนามัย ประกอบอาหารสุก เน้นผักมากกว่าแป้งและของทอด คำนึงถึงความสะอาด ล้างมือก่อนและหลังปรุงอาหาร สสส. และภาคีเครือข่าย ขอร่วมสืบสานประเพณีเทศกาลกินเจ สร้างบุญสร้างกุศล เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สร้างสมดุลให้ร่างกาย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การกินเจปีนี้ได้ทั้งบุญได้ทั้งสุขภาพ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า คนไทยมีพฤติกรรมติดเค็มตั้งแต่อายุยังน้อย ช่วงเทศกาลกินเจ หลายคนนิยมเลือกอาหารเจแบบแช่แข็งและกึ่งสำเร็จรูป เพราะหาซื้อได้สะดวก ผลสำรวจกลุ่มอาหารแช่แข็ง 53 รายการ พบปริมาณโซเดียมเฉลี่ยสูง 890 มิลลิกรัมต่อบรรจุภัณฑ์ ขณะที่กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป 300 รายการ เช่น บะหมี่ โจ๊ก ซุปกึ่งสำเร็จรูป มีโซเดียมเฉลี่ยสูง 1,240 มิลลิกรัม เกินกว่า 2 เท่าของคำแนะนำจาก WHO ส่งผลกระทบให้เกิด 6 อาการเบื้องต้น 1.กระหายน้ำ 2.ท้องอืด 3.น้ำหนักขึ้นเร็ว 4.ใต้ตา มือ เท้าบวม 5.เหนื่อยง่าย 6.ความดันโลหิตสูง

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า กินเจ “ลดเค็ม เลือกได้” ใช้สูตร 4 เลือก 4 เลี่ยง 1.เลือกกินผักสด ผักหลายชนิดไม่มีโซเดียม หรือมีอยู่น้อยมาก 2.เลือกสั่งเค็มน้อย ไม่ใส่ผงชูรส 3.เลือกไม่ปรุงเพิ่ม 4.เลือกอาหารแช่แข็งที่มีฉลากโภชนาการทางเลือกสุขภาพ ส่วนพฤติกรรมที่ต้องหลีกเลี่ยง 1.เลี่ยงซดน้ำซุป กินเฉพาะเส้นและเครื่องเคียง 2.เลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป 3.เลี่ยงอาหารหมักดอง 4.เลี่ยงขนมกรุบกรอบ ทั้งนี้ ได้ร่วมกับ สสส. พัฒนานวัตกรรมวัดความชาลิ้นออนไลน์ ที่เข้าใจง่าย ทดสอบพฤติกรรมติดเค็ม 5 ระดับ พร้อมรวบรวมองค์ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจผลกระทบต่อสุขภาพ แนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดเค็ม ผ่านเว็บไซต์ www.sodiumquiz.lowsaltthai.com