ในประเทศ

สสส. ชวนคนสภาฯ เช็คร่างกาย-จิตใจ ผ่านนิทรรศการสุขภาพ ชู โปรแกรม MIO สร้างสุขด้วยสติในองค์กร

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ที่อาคารรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม “นิทรรศการความรู้เพื่อปรับพฤติกรรมสุขภาพ และ Open House ชมรมของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ภายใต้โครงการพัฒนาองค์กรสุขภาวะต้นแบบ : การสร้างเสริมสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานบุคลากรในวงงานรัฐสภา สสส. ศ.พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า โครงการฯ สสส. ช่วยเสริมสร้างศักยภาพสู่การเป็นองค์กรสุขภาวะ ทำให้บุคลากรเกิดความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ เกิดพื้นที่ในการสร้างเสริมสุขภาพ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากรในวงงานรัฐสภาอย่างยั่งยืนเป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่นๆ ต่อไป

นางสาวนภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากรในวงงานรัฐสภา สร้างความตระหนักรู้แนวทางการมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ เสริมสร้างศักยภาพองค์กรสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุข ตลอดจนการปรับทัศนคติด้านสุขภาพ ซึ่งหากได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติผ่านกิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของรัฐสภา นอกจากจะช่วยให้ร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยังส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น เกิดความคิดสร้างสรรค์สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งในระดับตนเอง ทีม องค์กร และประเทศชาติได้ ทั้งนี้ จะมีการประเมินระดับความสุขของบุคลากรในสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ระหว่างปี 2566-2567

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ความเครียดในองค์กรนำไปสู่ปัญหาสุขภาพกาย จิต ปัญญา และสังคม ทั้งอาการไม่สบายทางกาย หมดความภาคภูมิใจในตนเอง ไม่มีความสุขในการทำงาน จากข้อมูลผลกระทบจากโควิด-19 ต่อสุขภาพจิตของคนวัยทำงาน โดยรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2565 พบ 1 ใน 3 มีความเครียดสูง และ 1 ใน 4 เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย สสส. ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโปรแกรมสร้างสุขด้วยสติในองค์กร (Mindfulness in Organization : MIO) ภายใต้แนวคิด Happy Workplace

“โครงการฯ พัฒนากิจกรรมเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตหนุนเสริม 13 ชมรม อาทิ ชมรมตัวโน้ต ชมรมกำลังใจ ชมรมพลังจิตตานุภาพ ชมรมปิงปอง พร้อมจัดการสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงจัดอบรมแกนนำบุคลากรในฐานะ “นักสร้างสุของค์กร” เกิดเป็นต้นแบบนักสร้างสุขแห่งรัฐสภา พัฒนาทักษะการปรับตัว มนุษยสัมพันธ์ มีทัศนคติเชิงบวก สร้างแรงบันดาลใจในการส่งเสริมสุขภาวะ (Influencer) และส่งต่อความรู้ด้านสุขภาพ กลายเป็นหน่วยงานต้นแบบในการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร มุ่งส่งเสริมให้มีคนความสุขในการทำงาน มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้” ดร.สุปรีดา กล่าว