การเงิน- หลักทรัพย์- ประกัน

PSTC ลุยงาน EPC ภาครัฐ รับศก.ฟื้น โชว์ Backlog ในมือกว่า 3.4 พันลบ. รับรู้รายได้ยาวถึงปี 2566

PSTC เปิดพิมพ์เขียวปี 65 ประกาศจัดตั้งกิจการค้าร่วมกับผู้ประกอบการรับเหมาฯที่มีประสบการณ์มายาวนานกว่า 20 ปี ลุยงาน EPC ภาครัฐ รับเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ผู้บริหารมั่นใจฐานทุนแน่น และมีความสัมพันธ์แน่นปึ๊กยักษ์รับเหมาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เผยมีงานในมือแล้ว 6 โปรเจค มูลค่ากว่า 3.4 พันล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ถึงปี 2566

นายกัมพล ตติยกวี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (PSTC) เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ทำการศึกษาแนวทางในการขยายธุรกิจของบริษัทในปี 2565  และพบว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะค่อยๆ เริ่มฟื้นตัวจากปัญหาโควิดอย่างช้าๆ โดยมีภาครัฐเป็น “หัวจักร” นำการฟื้นตัวที่สำคัญที่สุด บริษัทฯ จึงเริ่มศึกษาแนวทางการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ

ทั้งนี้ งาน EPC กับภาครัฐมีความชัดเจน ตั้งแต่มีสัญญาการจ้างงาน และรูปแบบการดำเนินงานตามที่กำหนด ตามสัญญาของหน่วยงานภาครัฐ โดยมีกรอบการทำงาน มีเจ้าของงานและผู้รับผิดชอบในหน่วยงาน มีคณะทำงานและคณะกรรมการต่างๆ  มาทำหน้าที่ดูแล มีการกำหนดคุณสมบัติของ รายการวัสดุอุปกรณ์ วิธีการ ก่อสร้าง และขอบเขตการจ้างงาน ตามการออกแบบตามหลักวิศวกรรมที่มีการควบคุมโดยผู้ชำนาญการ มีการกำหนดวงเงินงบประมาณและ กรอบเวลาที่จะใช้ในการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการเบิกจ่ายตามความคืบหน้าของงานแบบสอดคล้องกัน อย่างชัดเจน

“การที่เราขยายไลน์เข้าสู่ธุรกิจรับเหมางานในลักษณะนี้ เนื่องจากบริษัทฯมีประสบการณ์ทำงานที่คล้ายคลึงกันมาก่อน อีกทั้งยังมีความพร้อมด้านเงินทุน และมีเครือข่ายความสัมพันธ์กับบริษัทที่รับเหมาทำงานประเภทนี้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน”

นอกจากนี้ การทำงาน EPC ภาครัฐ ยังมีความเสี่ยงต่ำในการทำธุรกิจมีกรอบวงเงิน งบประมาณและ กำหนดการชำระเงินค่าจ้างและค่าสินค้าที่แน่นอน

“ที่ผ่านมา PSTC ได้มีการเจรจากับบริษัทรับเหมาในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญหลายแห่ง และสามารถสรุปงานที่จะร่วมกันดำเนินงานเริ่มตั้งแต่พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ไปถึงปี 2566 ในมูลค่ารวม ประมาณ 3,400 ล้านบาท”

โดยงานที่ได้ประกอบด้วย โครงการที่ 1 ถนนคันคลองป้องกันน้ำหลาก มูลค่าโครงการ 57 ล้านบาท มีระยะเวลาการดำเนินงาน 1 ปี โครงการที่ 2 ถนนแอสฟัลท์ คู่ขนานทางรถไฟรางคู่ มูลค่าโครงการ 212 ล้านบาท มีระยะเวลาการดำเนินงาน 8 เดือน

โครงการที่ 3  สะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ทล.304 หนองกี่-กบินทร์บุรี มูลค่าโครงการ 96 ลบ. มีระยะเวลาการดำเนินงาน 16 เดือน โครงการที่ 4  สะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก  ทล.3452 บ้านสร้าง-กบินทร์บุรี มูลค่าโครงการ 232 ล้านบาท มีระยะเวลาการดำเนินงาน 22 เดือน

โครงการที่ 5  วัสดุก่อสร้าง สำหรับสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อการก่อสร้างงานรถไฟรางคู่ มูลค่าโครงการ 495 ล้านบาท มีระยะเวลาการดำเนินงาน 3 เดือน และโครงการที่ 6  สะพานคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมตอม่อและฐานรากของงานรถไฟรางคู่ มูลค่าโครงการ 2400 ล้านบาท มีระยะเวลาการดำเนินงาน 24 เดือน