ในประเทศ

ดีเดย์เปิดประเทศ วงเสวนาแนะ ผับบาร์อย่าก้าวกระโดดรีบเปิด เสี่ยงกระจายเชื้อ อาจต้องปิดซ้ำอีก

เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) พร้อมด้วย เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (Alcohol Watch) และ​เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง ร่วมกันจัดเสวนา เรื่อง “การปรับตัวและความรับผิดชอบของสถานประกอบการที่จำหน่ายสุรา เพื่อรับมือการเปิดประเทศ”

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังเปิดประเทศแล้ว คนกังวลว่านักท่องเที่ยวจะเอาเชื้อเข้ามาระบาดในประเทศ ซึ่งตนมองว่าปัจจุบันมีการติดเชื้อในไทยจำนวนมากอยู่แล้วเฉลี่ยที่ 9,000-10,000  ดังนั้นหากติดก็คือติดในคนไทยกันเอง  แต่ที่กังวลว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง มี 2 เรื่อง คือ1.แรงงานต่างด้าว ผิดกฎหมายที่จะทำให้ระบาดในแคมป์ก่อสร้าง โรงงาน และ 2. ที่กังวลมากคือสถานบันเทิง เพราะจากการระบาดทุกรอบ และทุกประเทศ นี่คือจุดตั้งต้นของการระบาดใหญ่ (Super spreading setting) ซึ่งมีความเสี่ยงครบ 3 ด้านที่ทำให้เกิดการระบาด คือ 1.ห้องปิด 2.คนแน่น และ 3. มีการพูดคุย ซึ่งสามเรื่องนี้เข้าได้กับสถานบันเทิงทุกข้อ มีการพร้องเพลง กิน ดื่มและคุยกัน ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้คนเริ่มพูดคุย และเสียงดังขึ้น  เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการระบาดของโควิดง่ายที่สุด

“ดังนั้น ตนคาดว่า ศบค. คงคิดหนักว่าถ้าให้เปิดแล้วจะทำอย่างไร 1. คือต้องมีระบบระบายอากาศอย่างดี ไม่ต่ำกว่า 6 เท่า ลดจำนวนคนเข้าสถานที่ และเรื่องการพูดคุยของคนที่ห้ามยาก โดยเฉพาะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งทำให้คนมีการคุยกันมากขึ้น เสียงดังขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยาก ต้องออกแบบการเฝ้าระวัง ซึ่งตนคาดว่ามาตาการอาจจะมี เช่น ทุกคนที่เข้าไปต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตรวจ ATK  ทั้งนี้ สถานบันเทิงจะเป็นจุดแตกหัก โดยเฉพาะเดือน ธ.ค.เป็นเดือนหัวเลี้ยวหัวต่อเพราะมีการฉลองเยอะ กังวลว่าถ้าคนไทยไม่ระวัง แล้วรีบร้อน อาจสะดุดขาตัวเอง เกิดการระบาดจะต้องปิดกิจการอีก ดังนั้นทุกฝ่ายต้องคุยกันว่าจะมีมาตรการอย่างไร ไปช้าๆ ดีกว่าก้าวกระโดด และปรับแนวคิดเรื่องการทำอะไรต้องใหญ่ ต้องมีคนเยอะ ให้ทำแบบเล็กๆ คนไม่มาก เพราะในที่ปิดคนแน่นมากๆส่งเสียงร้องรำทำเพลงเชื้อโควิดในฝอยละอองจากการส่งเสียงของผู้คนจะลอยตัวในห้องได้มาก ทำให้มีโอกาสแพร่ทางอากาศ ติดกันหลายสิบหลายร้อยเหมือนช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา” นพ.คำนวณ กล่าว

ด้าน นายโกมล พรมเพ็ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาววชน กล่าวว่า สถานบันเทิงที่ทำผิด สามารถมีคำสั่งปิดได้ 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นการค้ามนุษย์ ปล่อยเด็กเข้าไปใช้บริการ มียาเสพติด  แต่ที่ผ่านมา มีการเลี่ยงบาลี พวกที่ถูกสั่งปิดแต่มาแอบเปิด โดยต่อเติมปรับเปลี่ยนพื้นที่อาคาร หรือไปขอออกบ้านเลขที่ใหม่โดยซอยพื้นที่แบ่งออกเป็นห้องๆ แต่จริงๆแล้วเป็นพื้นที่เดิม  ซึ่งตรงนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย ในช่วงการระบาดโควิด -19 ทำให้สถิติเด็กทำผิดลดลง ส่วนสถานบันเทิงที่ทำผิดก็มีการตรวจจับมากขึ้น ถือว่าช่วยลดปัญหาของประเทศได้เยอะ แต่ที่ตนกังวลว่าหากมีการเปิดสถานบันเทิง 1 ธ.ค.นี้ จะต้องมีการวางแผน

อย่างรัดกุมไม่ให้แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ซึ่งกรมฯ ยินดีรับเรื่องร้องเรียน  เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมาย  เพราะมีตัวอย่างสิงคโปร์เปิดประเทศได้เพียง 2 สัปดาห์ มีการระบาด และสถานพยาบาลรองรับไม่ไหว ดังนั้น หากเราก้าวกระโดด เร็วเกินไปเกรงว่าจะไม่ต่างจากสิงคโปร์ ผู้ประกอบการเองก็จะเสียหายมากระบบต่างๆ ก็กลับมาที่เดิมอีก

“แต่หากค่อยเป็นค่อยไป ให้เศรษฐกิจเดินได้ ก็ต้องวางแผนกัน จะมีมาตรการรองรับอย่างไรในแง่ของการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ต้องไม่มีการกระทำผิดกฎหมาย โดยปล่อยให้เด็กหรือเยาวชนที่อายุไม่ถึง 20 ปีเข้าไปใช้บริการ ต้องมีการตรวจคัดกรองผู้มาใช้บริการก่อนใช้บริการและพนักงานก่อนเข้าทำงาน เช่น สแกนตรวจบัตรประชาชน ตรวจผลการฉีดวัคซีน และต้องมีการตรวจATK หรือ RT-PCR ไม่พบเชื้อ เป็นต้น กำหนดเป็นมาตรฐาน ชัดเจน เป็นระบบ อย่าให้ผู้ประกอบการต้องตายซ้ำ และต้องสื่อสารกับผู้ประกอบกิจการสถานบันเทิงให้เข้าใจและทำตามลำดับที่ถูกต้อง ที่สำคัญสถานบันเทิงจะต้องลงทุนในเครื่องมือใดบ้าง เพื่อพัฒนามาตรฐานการเข้าใช้บริการในระยะยาวด้วย เพราะตนห่วงที่สุดคือการกลับมาระบาดหนักที่ประชาชนไม่มีสถานที่ตรวจ และรักษา เราอยากเปิดแล้วเดินหน้าต่อไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งเร็วๆ นี้ จะมีการหารือกันกับบรรดาผู้ประกอบกิจการในเรื่องนี้อีกครั้ง” นายโกมล กล่าว

ขณะที่ นายคฑาวุธ ทองไทย หรืออาจารย์ไข่ มาลีฮวนน่า ประธานสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ศิลปิน ที่ทำงานในสถานบันเทิง ถือเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด มาก เพราะถูกปิดก่อน เปิดทีหลัง และไม่มีเงินเดือน ขณะที่สถานบันเทิงในประเทศไทยมีจำนวนมาก ทั้งหมดมีคนเกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน  ส่วนใหญ่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือสวัสดิการใดๆของรัฐ  มีเพียงสถาบันเทิงขนาดใหญ่ที่พนักงานจะมีประกันสังคม ทำให้คนจำนวนมากไม่ได้รับการเยียวยา เพราะทุกโครงการที่รัฐทำขึ้นนั้นไม่ระบุกล่มอาชีพศิลปินที่จะได้รับการเยียวยา ต้องไปลงทะเบียนเป็นอาชีพเกษตรกร ทั้งที่เป็นคลีเอทีฟอิโคโนมี เหมือนที่เกาหลีใต้ใช้อุตสาหกรรมบันเทิงขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

“อุตสาหกรรมบันเทิง ถือว่าน่าสงสาร ทั้งที่ประเทศไทยหากินกับการท่องเที่ยว แต่เราเหมือนเด็กกำพร้าที่ไม่เคยสร้างบ้านของตัวเอง ตอนนี้เรากำลังผลักดันให้มีการจัดตั้งสภาศิลปะและวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่มีกฎหมายรองรับชัดเจนเข้ามาดูแล เพราะเราเองก็เสียภาษีเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจว่า โรคโควิด -19 เป็นเรื่องใหม่ และเข้าใจว่าภาครัฐก็พยายามทำมุกวิถีทางเหมือนกัน ส่วนตัวยินดีที่เปิดประเทศ แต่มีคำถามว่าระบบในประเทศดีหรือยัง ถ้าระบบไม่ดีเราอยู่ปลายน้ำก็เป็นจำเลยเหมือนเดิมอีก หากอยากให้อุตสาหกรรมบันเทิงทำอะไร ผู้ประกอบการดำเนินการอย่างไรก็ช่วยบอกเราด้วยขอให้ชัดเจน” นายคฑาวุธ กล่าว และว่า ตนอยากให้มีการจัดพบปะกันทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ ศิลปิน และกลุ่มอาชีที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อหาแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อประโยชน์สูงสุด เพราะปลายปีนี้เราอยากได้ยินคำว่าเคาน์ดาวน์ ไม่ใช่ล็อคดาวน์กันอีก เรายินดีปฏิบัติตามมาตรการของรัฐทุกประการ ขอให้บอกมาว่าต้องทำอย่างไร เพราะเราเองก็มีลูกเมียที่ต้องดูแลเหมือนกัน ที่ผ่านมาก็เจ็บปวดมามากพอแล้ว