สาธารณสุข

สสส. ร่วมถกวงประชุม APEC LIFE SCIENCES INNOVATION FORUM หาทางป้องกัน “มะเร็ง”

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้าร่วมการประชุมนวัตกรรมวิทยาศาสตร์สุขภาพภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC LIFE SCIENCES INNOVATION FORUM : LSIF) ประเด็นการป้องกันมะเร็ง ในหัวข้อ “การพัฒนาการป้องกันมะเร็งอย่างยั่งยืน” (Sustaining and Improving Cancer Prevention Efforts) จัดโดยกระทรวงสาธารณสุขไต้หวัน (Ministry of Health and Welfare, Chinese Taipei) มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 8 ประเทศผ่านระบบออนไลน์ สำหรับเวทีการประชุมครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายการป้องกันมะเร็งของประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุดในการควบคุมปัจจัยเสี่ยง เพื่อป้องกัน หรือลดอุบัติการณ์ของมะเร็ง

ดร.สุปรีดา นำเสนอตัวอย่างการทำงานป้องกันโรคมะเร็งของไทยในระดับต้นน้ำว่า จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของโลก มีผู้เสียชีวิตประมาณ 9.6 ล้านคนในปี 2561 ในกลุ่มเศรษฐกิจเอเปก มะเร็งเป็น 1 ใน 3 อันดับแรกของสาเหตุการตาย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทยในทุกเพศ สำหรับโรคกลุ่มนี้ การป้องกันการเกิดโรคคุ้มค่ากว่าการรักษามาก ส่วนการป้องกันที่อาจแยกเป็นการป้องกันรายบุคคล เช่น การตรวจคัดกรอง การให้บริการสุขศึกษา และการป้องกันระดับปฐมภูมิในประชากร ที่ใกล้เคียงกับการสร้างเสริมสุขภาพ จะประกอบด้วยการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพและวิถีชีวิต ตลอดจนสังคมสิ่งแวดล้อมให้ปลอดต่อปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็ง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงตัวสำคัญ ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การกินผักและผลไม้น้อย  การขาดการออกกำลังกาย และน้ำหนักตัวเกิน การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษ เป็นต้น

ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีบทบาทหลักในการให้บริการป้องกันโรครายบุคคลและรายกลุ่มในระบบบริการสุขภาพ  สำหรับ สสส. มุ่งให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงในระดับประชากรเป็นหลัก โดยการสนับสนุนและเชื่อมประสานสามพลัง อันประกอบด้วย พลังวิชาการ พลังนโยบาย และพลังสังคม ของทุกภาคส่วน ทั้งในหน่วยงานด้านสุขภาพและนอกวงการสุขภาพ ทั้งจากภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกระแสสังคมที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพ และสังคมสิ่งแวดล้อมที่ลดความเสี่ยงต่างๆ ข้างต้น ซึ่งจะเอื้อต่อการป้องกันการเกิดมะเร็ง

 “ตัวอย่างการทำงานขับเคลื่อนไตรพลังของ สสส. นำไปสู่นโยบายและมาตรการสำคัญ ได้แก่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ฯ รวมทั้งกระแสสังคมที่สนับสนุนการขยายเขตปลอดบุหรี่ และการจัดเทศกาลและงานสังคมต่างๆที่ปลอดเหล้า มาตรการเหล่านี้ร่วมกันส่งผลให้คนไทยดื่มเหล้า สูบบุหรี่ลดลง ทำนองเดียวกับการประสานและผลักดันมาตรการที่ลดปัจจัยเสี่ยงตัวอื่นๆ” ดร.สุปรีดา กล่าว