การศึกษา-วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี

นักศึกษา ICT ม.มหิดล คว้ารางวัลประกวดหนังสั้นต้าน CYBERBULLYING

เมื่อเร็วๆ นี้ นายธนภัทร จำนงรัตน์ หรือ “ปาล์ม” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จาก คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งร่วมกับ บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) จัดโครงการประกวดหนังสั้น ผ่านเว็บไซต์เอ็มไทยดอทคอม ภายใต้หัวข้อ ‘CYBERBULLYING?’ เพื่อการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์

“ปาล์ม” ส่งผลงานหนังสั้น เรื่อง “Virus” เข้าประกวดในชื่อทีม “Palminister” โดยมีความตั้งใจที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมตามความถนัดของตัวเอง ซึ่งก็คือการทำหนังสั้น ในชื่อทีม “Palminister” ที่ตั้งชื่อโดยใช้ชื่อเล่นของตัวเอง บวกกับคำว่า “Prime Minister” หรือ “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถทำให้เกิด “แรงกระเพื่อม” ในการสะท้อนปัญหาให้เกิด “ความเห็นอกเห็นใจ” และ “ฉุกคิด” เพื่อไม่ให้ “ถูกครอบงำ” จาก “CYBERBULLYING” หรือ “การกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์” ซึ่งกำลังกลายเป็นเหมือนเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน

“ปาล์ม” เล่าว่า ตนและพี่สาวถ่ายทำหนังสั้น เรื่อง “Virus” ในช่วงวิกฤติ Covid-19 ที่ผู้คนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน โดยเป็นการถ่ายทอดผ่านตัวละครเพียงตัวเดียว โดยใช้เฟซบุ๊ก และโปรไฟล์จำลอง เพื่อชี้ให้เห็นว่า ท้ายที่สุดแล้วเราทุกคนไม่อยากอยู่ในสังคมที่ไม่มีใครเห็นใจกัน การคิดหรือพูดอะไรออกไปโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น คือการทำร้ายซึ่งกันและกัน จึงอยากให้ลองคิดว่า ถ้าเกิดคนที่เรากำลังทำร้าย หรือ “BULLY” อยู่นั้น คือคนที่อยู่ใกล้ตัวเรา เป็นคนที่เรารัก เราจะทำอะไรแบบนั้นกับเขาหรือไม่ (ชมหนังสั้นเรื่อง “Virus” ได้ที่ https://video.mthai.com/upclip/ss6/player/MmmZXy?pl=Eq00Yy)

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วิจัยเรื่อง “ทัศนคติและพฤติกรรมการกระทำความรุนแรงผ่านโลกไซเบอร์ของเยาวชนไทย” กล่าวเสริมว่า เรื่อง “ความเห็นอกเห็นใจกัน” เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหนังสั้นเรื่อง “Virus” สามารถสะท้อนไว้ได้อย่างชัดเจน อยากให้สังคมไทยออกมามองว่า เราจะปล่อยผ่านเรื่อง “การกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์” อย่างนั้นต่อไปอีกไม่ได้แล้ว เพราะว่าถ้าเราไม่ได้ทำอะไรกันอย่างจริงจัง เราจะกลายเป็นสังคมที่ยอมรับ “ความรุนแรง” ไปโดยปริยายจนคุ้นชิน

ซึ่งการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ทั่วโลกแบ่งออกเป็น 7 รูปแบบ ได้แก่ 1.การก่อกวน ข่มขู่ คุกคาม 2.การให้ร้ายใส่ความ การแกล้งแหย่ 3.การเผยแพร่ความลับ 4.การกีดกันออกจากกลุ่ม 5.การแอบอ้างชื่อ การสร้างบัญชีปลอม 6.การขโมยอัตลักษณ์ และ 7.การล่อลวง ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ก็ยังมีกฎหมายอื่นที่พอจะนำมาปรับใช้ได้ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ที่ระบุว่า ผู้ใดโพสต์ข้อมูลที่บิดเบือนหรือปลอมแปลง ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน หรือให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งคนอื่นสามารถเข้าไปดูข้อมูลนั้นได้ และทำให้ผู้อื่นเสียหาย หรือให้ข้อมูลลามกต่างๆ ทั้งผู้โพสต์และผู้เผยแพร่ส่งต่อจะมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ปัจจุบันพบว่าการกลั่นแกล้งรังแก หรือ “BULLY” นั้น เกิดขึ้นกับผู้เสียหายที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งในบางประเทศมีการรณรงค์กันอย่างจริงจัง โดยจัดให้มี “BULLY FREE ZONE” ณ โรงเรียนทุกแห่ง ซึ่งมีการแสดงสถิติการกลั่นแกล้งและผลของการสอบสวนที่เกี่ยวข้อง โดยมีการรายงานผลต่อสาธารณะ เช่นเดียวกับการแสดงสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งเป็นการยืนยันว่า การกลั่นแกล้งรังแกเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้”

“การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน คือ การสูญเสียทางกาย แต่การ “BULLY” คือ อุบัติเหตุทางใจ จริงๆ แล้ว “BULLY” เป็นเรื่องของ “เด็กรังแกเด็ก” ซึ่งมีมานานแล้ว โดยมีผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย คือ “ผู้แกล้ง” “ผู้ถูกแกล้ง” และ “ผู้เชียร์” ซึ่ง “การเล่น” ต่างกับ “การแกล้ง” ตรง “เจตนา” ที่ทำให้ผู้ถูกกระทำเกิด “ความเจ็บปวด” สังคมในโลกยุคดิสรัปชั่นในปัจจุบันมีทั้ง “โลกเสมือนจริง” หรือ “โลกไซเบอร์” และ “โลกในชีวิตจริง” ที่ดำเนินไปอย่างเป็นคู่ขนาน แต่มักพบปัญหาเยาวชนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตโดยให้คุณค่ากับ “โลกเสมือนจริง” มากเกินไป หน้าที่ของผู้ใหญ่จึงควรสอนให้เด็กเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง “โลกไซเบอร์” และ “โลกในชีวิตจริง” จึงจะทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตในสองโลกได้อย่างสมดุล และมีความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย

สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210