ในประเทศ

วุฒิสภา-สสส. จัดกิจกรรมหวังสร้างจิตสำนึกผู้ใช้รถใช้ถนน “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้”

ครบ 3 เดือน สูญเสียหมอกระต่าย คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา-สสส. จัดกิจกรรมหวังสร้างจิตสำนึกผู้ใช้รถใช้ถนน “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” หมอฉุกเฉิน-กู้ชีพ เผยอุบัติเหตุทางม้าลายส่วนใหญ่เสียชีวิตคาที่ คนรอดมักบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะ กลายเป็นผู้พิการ ด้าน “เหยื่อ” ย้ำอุบัติเหตุผ่านมา 30 ปี ยังฝังใจ ชี้ “คนขับเคยชิน ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย”

เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ลานวิคตอรีพอยต์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร  คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเขตราชเทวี สภากาชาดไทย และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ครั้งที่ 3 ร่วมแจกสื่อประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึกผู้ขับขี่ ให้หยุดรถตรงทางม้าลาย ลดความเร็วเขตชุมชน-ชะลอก่อนถึงทางแยกทางข้าม พร้อมชมละครสั้นชุด “สูญเสีย” และเสวนาหัวข้อ “เสียงจากเหยื่อและห้องฉุกเฉิน…หยุดอุบัติเหตุ หยุดสูญเสีย” โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุ

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ไม่ใช่เรื่องเคราะห์กรรมอย่างที่เชื่อกันมา เราต้องร่วมสร้างจิตสำนึกการใช้รถใช้ถนนให้มีความปลอดภัยทั้งต่อตัวเองและเพื่อนร่วมทาง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ตามเป้าหมายของประเทศ จึงอยากเชิญชวนผู้ขับขี่ชะลอความเร็วเมื่อเห็นทางข้ามทางม้าลาย ใช้ความเร็วที่ปลอดภัย 30 กม./ชม. เมื่อขับผ่านชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด และขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยเน้นดำเนินการเรื่อง 1.ลดพฤติกรรมเสี่ยงและเพิ่มพฤติกรรมความปลอดภัย 2.สร้างสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความปลอดภัยเน้นที่กลุ่มเสี่ยงและพื้นที่เสี่ยง 3.ข้ามถนนตรงทางข้ามทางม้าลายหรือทางแยกที่มีสัญญาณไฟ และครั้งนี้มีเวทีเสวนา รับฟัง “เสียงจากเหยื่อและห้องฉุกเฉิน…หยุดอุบัติเหตุ หยุดสูญเสีย” มีเหยื่ออุบัติเหตุสะท้อนความรู้สึกร่วมกับทีมกู้ชีพและแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉิน โดยทุกภาคส่วนมีเป้าหมายร่วมเพื่อสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน รวมถึงคนเดินเท้าและคนข้ามทางม้าลายปลอดภัยและหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ทั่วประเทศไทย

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) และรองประธานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์หมอกระต่ายถูกรถบิ๊กไบค์ชนเสียชีวิต ระหว่างข้ามทางม้าลาย นำมาสู่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เรื่อง เช่น สีถนนต้องชัดเจน และมีสัญญาณจราจร ปรับพื้นที่บริเวณสี่แยกที่จะมีรถออกตัวแรง ไม่ควรกำหนดให้มีทางม้าลาย เปลี่ยนเป็นทางข้ามหรือทางลอดแทน ทำให้ผู้เสียชีวิตลดลงเหลือ 2-4 รายต่อสัปดาห์ ขณะนี้ ศปถ. ได้กำหนดสิ่งที่ต้องทำ เพื่อความปลอดภัยไว้หลายข้อ หนึ่งในนั้นคือประกาศให้แต่ละพื้นที่ที่มีเขตเมือง กำหนดความเร็วที่ปลอดภัย 50 กม./ชม. หรือ 30 กม./ชม. เช่น พื้นที่โรงเรียน โรงพยาบาล โดยความเร็ว 30 กม./ชม. นั้น ขณะนี้หลายพื้นเริ่มดำเนินการแล้ว นอกจากนี้เรื่องการต่อใบอนุญาตขับขี่ ควรมีการทดสอบทักษะการรับรู้ถึงการขับขี่ที่เป็นอันตรายด้วย จะช่วยให้เกิดระบบที่ปลอดภัย สร้างจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่รถทุกประเภท

พญ.ณธิดา​ สุเมธโชติเมธา แพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า จากข้อมูลผู้ป่วยห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลราชวิถี เป็นอุบัติเหตุมากถึง 40% ของผู้ป่วยที่มาห้องฉุกเฉิน และในจำนวนนี้ 30% เป็นคนไข้หนัก ที่เกิดจากอุบัติเหตุจราจร ส่วนใหญ่เกิดจากรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะคนข้ามถนนมักพบว่าบาดเจ็บรุนแรง มีเลือดออกในช่องท้อง เพราะถูกชนกระเด็นกระแทกพื้น หากเอาศีรษะลงก็จะเกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะรุนแรง เช่น กะโหลกร้าว-แตก เลือดออกที่สมองและเสียชีวิต บางรายรอด แต่ไม่ฟื้น หรือมีสภาพนอนเป็นผัก ผู้พิการ บางคนเป็นเสาหลักของครอบครัวก็กลายเป็นต้องพึ่งพาคนอื่น ในต่างประเทศ หากมีคนเดินข้ามถนน รถจะหยุดตั้งแต่ระยะ 20 เมตร แต่ในประเทศไทยผู้ใช้รถใช้ถนนยังไม่ค่อยให้ความสำคัญ จึงพบอุบัติเหตุทางม้าลายอยู่เสมอ หากมีการรณรงค์ให้คนขับรถหยุดทุกครั้งที่เห็นทางม้าลาย ไม่ว่าจะมีคนข้ามหรือไม่ก็ตาม ควบคู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จะช่วยลดอุบัติเหตุทำให้ทางม้าลายปลอดภัยได้จริง

นายดิเรก​ บูญเส็ง ผู้แทนทีมกู้ชีพ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ช่วยเหลือกู้ภัย กรณีอุบัติเหตุบนท้องถนน พบว่า มีอุบัติเหตุจากการข้ามทางม้าลายอยู่เสมอ ส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ ซึ่งคนขับรถจะบาดเจ็บไม่มากเนื่องจากสวมหมวกกันน็อก แต่คนข้ามทางม้าลาย พบว่าส่วนใหญ่มีโอกาสเสียชีวิตสูง โดยกว่า 80% ของผู้ที่ถูกชน เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ อุบัติเหตุทางม้าลายเกิดได้ทุกที่ ไม่ว่าบริเวณนั้นจะมีหรือไม่มีสัญญาณไฟจราจร กรณีที่พบได้บ่อยคือ แม้จะเห็นรถคันหน้าชะลอหรือหยุดให้คนข้าม แต่คันหลังโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ก็จะแซงมาอีกเลน จึงชนคนข้ามทางม้าลาย จึงต้องเรียกร้องให้คนมีจิตสำนึก และมีน้ำใจกับคนใช้รถใช้ถนนร่วมกัน

นายอันนูวา สาอิ ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ช่วงอายุ 12 ปี กำลังจะจบชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนใน จ.นราธิวาส โรงเรียนพานักเรียนประมาณ 30 คน มาทัศนศึกษาที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ระหว่างที่กำลังข้ามทางม้าลายทั้งคณะ มีรถ 2 คันจอดให้ข้าม แต่ตนเองถูกรถจักรยานยนต์อีกคัน แทรกมาทางซ้ายสุดพุ่งเข้าชนจนบาดเจ็บ เป็นอุบัติเหตุครั้งใหญ่ในชีวิต รู้สึกเสียใจและผิดหวังมากสุด ตอนเรียนเรามักถูกปลูกฝังว่า “ข้ามถนนตรงทางม้าลายปลอดภัยที่สุด” แต่สิ่งที่เราเจอทำให้รู้ว่าคำสอนนี้มันไม่จริง ทางม้าลายไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ทุกวันนี้ ยังมีคนบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการข้ามถนนตรงทางม้าลายอยู่ จึงเรียกร้องให้มีการรณรงค์ปลูกฝังให้คนเคารพกฎจราจร มีจิตสำนึก มีน้ำใจในการใช้ถนน เพื่อไม่ให้อุบัติเหตุบนทางม้าลายเกิดขึ้นอีก