สาธารณสุข

กรมอนามัย ชวนเด็กไทยแปรงฟัน 2 นาที ทุกซี่ทั่วทั้งปาก ป้องกันฟันผุ

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2564) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ “ขยับแปรง 2 นาที” ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ว่า สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นสถานที่สำคัญในการดูแลสุขภาพเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการสมวัย สูงดีสมส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสถานพัฒนา  เด็กปฐมวัยแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัยจึงขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย     ด้านสุขภาพเด็ก หรือ 4D อันประกอบด้วย 1.ด้านโภชนาการและการเจริญเติบโต (Diet) 2. ด้านพัฒนาการ (Development & play) 3.ด้านทันตสุขภาพ (Dental) และ 4.ด้านการป้องกันโรค (Diseases) ภายใต้กิจกรรม กิน กอด เล่น เล่า นอน เฝ้าดูฟัน โดยในส่วนของการส่งเสริมด้านทันตสุขภาพนั้น มีเป้าหมายให้เด็กปฐมวัยมีสุขภาพช่องปากดี ปราศจากฟันผุ โดยกำหนดให้เด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกคนต้องแปรงฟันหลังอาหารกลางวันทุกวันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ มีการตรวจประเมินสุขภาพช่องปากเด็กโดยครูผู้ดูแลเด็ก และจัดอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพช่องปากแก่เด็ก

ซึ่งจากการศึกษาของกรมอนามัย เรื่องพัฒนาการของเด็กปฐมวัยไทยล่าสุด พบว่า เด็กปฐมวัยที่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก มีโอกาสที่จะพัฒนาการสมวัยต่ำกว่าเด็กที่ไม่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก1.43 เท่า และพบพัฒนาการด้านภาษาช้า ไม่กล้าสื่อสารกับผู้อื่น เพราะออกเสียงไม่ชัดเจน หรือกำลังเจ็บปวดจากปัญหาในช่องปาก นอกจากนี้ เด็กที่มีฟันน้ำนมผุ เมื่อโตขึ้นมักพบว่ามีฟันแท้ผุไปด้วย เนื่องจากเด็กที่มีฟันผุจะมีเชื้อก่อโรคฟันผุในช่องปากมากกว่าปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ฟันแท้ที่กำลังจะขึ้นใหม่นั้นผุได้เช่นเดียวกัน

“ทั้งนี้ เด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ควรขยับแปรงให้นาน 2 นาที เพื่อให้แปรงฟันได้สะอาดทั่วทั้งปาก ทุกซี่ ทุกด้าน และเป็นการให้เวลาฟลูออไรด์ในยาสีฟันจับกับผิวเคลือบฟันเพื่อป้องกันฟันผุ อีกทั้งเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักแปรงฟันตนเอง และเรียนรู้ว่าการแปรงฟันเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน เมื่อเด็กแปรงฟันเป็นประจำจะเคยชินกับการมีสภาพช่องปากสะอาด เกิดการเรียนรู้ว่าการแปรงฟันเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวัน พัฒนาให้เป็นสุขนิสัยและเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแปรงฟัน ควรมีผู้ใหญ่หรือครูผู้ดูแลเด็กตรวจความสะอาดหลังการแปรงฟันด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

  ด้าน ทพญ.วรางคนา  เวชวิธี  รองผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุขกล่าวว่า จากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ประเทศไทย พบความชุกโรคฟันผุในเด็กอายุ 3 ปี ร้อยละ 52.9 และเด็กอายุ 5 ปี ร้อยละ75.6 โดยสาเหตุหลักของการเกิดฟันผุในเด็กปฐมวัยเกิดจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น   การปล่อยให้เด็กหลับคาขวดนมหลังจากฟันน้ำนมขึ้นในช่องปากแล้ว การให้เด็กกินขนมหรือนมที่มีรสหวานเป็นประจำ และผู้ปกครองไม่ได้เริ่มแปรงฟันตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น หรือละเลยเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็ก จึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพช่องปากของเด็กในอนาคต เพราะการมีฟันน้ำนมผุลึก จะทำให้เด็กมีอาการปวดฟัน เคี้ยวอาหารไม่ได้ ร่างกายจะได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ส่งผลต่อการเจริญเติบโต เด็กจะมีน้ำหนักและส่วนสูงน้อย  อีกทั้งอาการปวดฟันยังส่งผลให้เด็กนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ มีพัฒนาการบางด้านไม่สมวัย หรือมีพัฒนาการด้อยกว่าเด็กๆ ที่มีฟันดี ดังนั้น การดูแลสุขภาพช่องปากเด็กปฐมวัย จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่เด็กเพื่อลดปัญหาฟันผุ เมื่อโตขึ้น